ผู้เลี้ยงสุกร ยันหมูต้นทางไม่เกิน 68 บาทต่อ กก. ราคาหมูชำแหละแพงเฉพาะพื้นที่สีแดง

แฟ้มภาพ

ผู้เลี้ยงสุกร ยันหมูต้นทางไม่เกิน 68 บาทต่อ กก. ราคาหมูชำแหละแพงเฉพาะพื้นที่สีแดง

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า โดยภาพรวมราคาสุกรหน้าฟาร์มยังทรงตัวระดับ 68 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำลงต่อเนื่องหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดยการระบาดโควิดรอบแรกราคาเฉลี่ย 80 บาท/กก. ระบาดรอบสองราคาเฉลี่ย 76 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการเพื่อนำไปปรุงอาหารลดลงต่อเนื่อง การระบาดทำให้หลายพื้นที่ปิดโรงฆ่าสัตว์ และประเทศเพื่อนบ้านลดการนำเข้าสุกรจากไทย

ส่งผลต่อเนื่องให้ ผู้เลี้ยงสุกรต้องลดปริมาณแม่พันธุ์ ทั่วประเทศเหลือ 55% จากที่มีสุกรออกสู่ตลาดเฉลี่ย 1 ล้านตัว/วัน เหลือ 5-6 แสนตัว/วัน เมื่อเทียบต้นทุนเลี้ยงเฉลี่ย 76 บาท แล้วดังนั้นราคาสุกรเป็นก็จะไม่ลดลงกว่านี้ได้แล้ว และราคาเนื้อหมูชำแหละหน้าเขียง 125-130 บาท/กก. ถือว่าเหมาะสม

“ที่ว่าหมูแพงขึ้นนั้นต้องดูเป็นพื้นที่ หากเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการติดเชื้อและมีการปิดตลาดสด ระบบการจัดส่งทำให้ได้น้อยลง ย่อมมีผลกระทบต่อปริมาณตรึงตัวและราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด แต่ภาพรวมราคาเนื้อหมูตอนนี้ถือว่าถูกลงมากแล้ว หากจะต่ำกว่านี้ก็จะกระทบต่อผู้เลี้ยง ต้องปลดแม่พันธุ์เพิ่มเพื่อลดภาวะขาดทุน เมื่อลดลงเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดนิ่งและคลายล็อกดาวน์ตอนนั้นก็จะเจอภาวะหมูขาดแคลนแน่นอนและราคากลับมาพุ่งทั่วประเทศ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน เพราะการเลี้ยงสุกรมีรอบของการเลี้ยงที่จะใช้เวลา

หากความต้องกลับมาพร้อมกันทั้งประเทศ จะเจอวิกฤตอีกแบบ ตอนนี้ผู้เลี้ยงก็ต้องช่วยตนเอง รัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ ขอเพียงให้ตรึงราคา เราก็รอความหวังการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากร หรือแรงงานด้านเพาะเลี้ยง ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายพื้นที่แรงงานมีการติดโควิด แต่ไม่รุนแรงเท่าฟาร์มไก่ เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกฟาร์มใช้มาตรการล็อกดาวน์ตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ในสุกรอยู่แล้ว” น.สพ.วิวัฒน์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ได้มีการประชุมต่อเนื่องกับสมาคมและกลุ่มเกษตรกรด้านปศุสัตว์และพืชเศรษฐกิจ เพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการป้องกันโควิดในการฟาร์มเพาะเลี้ยง หลังจากมีแรงงานหลายโรงงานเลี้ยงสัตว์ในหลายพื้นที่ติดโควิดจำนวนมาก จนต้องปิดโรงงานและหยุดการผลิต จึงทำให้เกิดความวิตกเรื่องผลผลิตอาจกระทบต่อการส่งออกได้ลดลง และติดตามเรื่องปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากมีความวิตกการแพร่ระบาดกระทบต่อผลผลิตลดลง อาจมีผลต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image