ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-หอการค้า ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เซ็งวัคซีนมาไม่ตามแผน เดลต้าลามหนัก

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-หอการค้า ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เซ็งวัคซีนมาไม่ตามแผน เดลต้าลามหนัก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 40.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้า เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือนหรือ 22 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัดโดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น.

ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ปีนี้ขยายตัว 0 ถึง ติดลบ 2% ผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลก ว่าจะส่งผละกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม เป็นต้นไป การควบคุมการแพร่ระบาดการประกาศล็อกดาวน์เติม ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้

Advertisement

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 20.7 ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 22.5 และเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 31 เดือน โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการออกมาตรการเร่งด่วนขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาด

“ภาครัฐต้องเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการผลิตได้ เพื่อให้การส่งออกไม่สะดุด โดยการฉีดวัคซีนให้กับแรงงาน ในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าให้สถานการณ์คลี่คลายในต้นเดือนกันยายน หรือตุลาคม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีไม่เพียงพอกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาจจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเตรียมการขยายเพดานเงินกู้เกินกว่า 65-70% ของจีดีพี อีกทั้งต้องให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image