ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เอราวัณไม่ได้-เจอมรสุม หวั่นกระทบกำลังผลิตก๊าซ

ปตท.สผ.โอดยังเข้าพื้นที่เอราวัณไม่ได้ ซ้ำเข้าช่วงมรสุมระยะเวลาการเตรียมงานลดลง หวั่นกระทบกำลังการผลิตช่วงแรกหาย 300 ล้านลบ.ฟ./วัน

น.ส.เมธ์ลดา ชยวัฒนางกูร ผู้จัดการอาวุโส ในฐานะผู้จัดการโครงการ G1 (Project Manager) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัทยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตในโครงการ G1/61 (เอราวัณ) ว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการลงนามสัญญาเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ซึ่งล่าช้ามาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงส่งผลให้การทำงานทั้งหมดถูกกระทบไปด้วย

ทั้งนี้ ปตท.สผ. จะต้องเข้าไปดำเนินการผลิตก๊าซตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) ต่อเนื่องจากผู้ดำเนินการเดิทหมดสัญญาในช่วงเดือน เม.ย. 2565 ทันที ซึ่งจะต้องมีกำลังการผลิตที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟ.)ต่อวัน ทั้งนี้จากความล่าช้าที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะได้รับการอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่โดยมีการลงนามฯระยะที่ 2 ภายใน 1-2 เดือนนี้ ก็อาจจะไม่ทันที่จะสามารถคงสัดส่วนการผลิตได้ที่ 800 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ซึ่งอาจจะมีการดำเนินการผลิตได้ช่วงแรกเต็มที่ 500 ล้าน ลบ.ฟ./วัน และจากหายไป 300 ล้าน ลบ.ฟ./วัน

“เราได้วางแผนที่จะดำเนินการตามกำหนดการมาตลอด ทั้งผลิตแท่นหลุมผลิตจำนวน 8 แท่นเพื่อจะนำไปติดตั้งในพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ แล้ว แต่เมื่อยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้จึงต้องเก็บแท่นดังกล่าวไว้ก่อน และหากมีการเซ็นสัญญาเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 หลังจากได้รับความชัดเจนก็จะต้องใช้เวลาดำเนินการ 6-9 เดือน ทั้งประสานงานกับเรือติดตั้ง แลติดตั้งแท่นขุดเจาะ รวมถึงการแปรสภาพแท่นขุดเจาะเดิมให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง และการทำงานปกติบริษัท ก็จะไม่ดำเนินการในช่วงมรสุม ซึ่งจะทำให้ระยะการทำงานเหลือน้อยลงไปอีก อยู่ที่ประมาณ 3-4 เดือนก่อนที่จะถึงระยะกำหนดตามสัญญาพีเอสซี”น.ส.เมธ์ลดากล่าว

อย่างไรก็ตามบริษัท ก็จะพยายามที่จะจัดการวัตถุดิบที่มี เพื่อย่นระยะเวลาการดำเนินให้ทันกับสัญญาก่อนสัมปทานเดิมหมดอายุ หลังมีความชัดเจนในการเข้าพื้นที่ทันที ขณะที่สัดส่วนการผลิตที่อาจจะหายไป ปตท.สผ. จะเร่งดำเนินการในส่วนของแหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการเช้ามาทดแทน เพื่อให้ครบตามสัญญาที่ 800 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ส่วนของการประเมินพื้นที่เอราวัณ มั่นใจว่ากำลังการผลิต 800 ล้าน ลบ.ฟ./วัน จะสามารถผลิตได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปีแน่นอน แต่จะได้มากกว่าหรือนานกว่านี้หรือไม่ อาจจะต้องรอหลังเข้าไปดำเนินการก่อน เพื่อประเมินศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่ โดยคาดว่าในปี 65-66 น่าจะได้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image