ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวถล่มค้าปลีก เสียหาย 2.7 แสนล้าน กระทบร้านค้านับแสน คนตกงานเป็นล้าน

ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวถล่มค้าปลีก ฉุดความเชื่อมั่นดิ่งสุดรอบ 16 เดือน ติดลบ70% เสียหาย 2.7 แสนล้าน กระทบ 100,000 ร้านค้า ต้องปิดกิจการ และตกงานกว่าล้านคน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ารุนแรงกว่าระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนสิงหาคมที่ปัจจุบันได้ขยายจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566”

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน คิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบ 70% และการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือนกรกฏาคมปีนี้ Same Store Sale Growth (SSSG) เกิดจากทั้ง Spending Per Bill หรือ Per Basket Size และ ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ลดลงพร้อมกันทั้งคู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา สมาคมฯ คาดว่าภาคการค้าปลีก และบริการครึ่งปีหลังจะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยืนอยู่ที่ระดับ 27.6 ต่ำกว่าดัชนีเดือนเมษายนปี 2563 ที่ระดับ 32.1 สะท้อนถึง ความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตรการ การเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ยังมีดัชนีความเชื่อมั่นในประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ปรากฎว่า ลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างต่อเนื่องใน ทุกภูมิภาค เป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะภาคกลาง ที่ลดลงอย่างชัดเจนกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากภาคกลางมีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือน ข้างหน้า ก็ลดลงในทุกภูมิภาคอย่างชัดเจน แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ ผู้ประกอบการประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ การฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน

ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก จากผลการสำรวจพบว่าดัชนีปรับลดลงมาก อย่างชัดเจน และต่ำลงในทุกประเภท โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกประเภทร้านอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงและหนักสุดจากมาตรการการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ยอดขายลดลงกว่า 80-90 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ส่วนร้านค้าประเภทสะดวกซื้อ ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กำหนดให้ปิดบริการตั้งแต่ 21.00 – 04.00 น มีผลต่อยอดขายหดหายกว่า 20 – 25% จากที่รายได้ในรอบดีก ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Peak Hour หายไป และจำนวนสาขาของร้านค้าสะดวกซื้อกว่า 40% ตั้งอยู่ในเขตสีแดงเข้มที่เป็นเขตควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด

Advertisement

บทสรุปประเด็นสำคัญของ “การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและการจ้างงานต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ” ในเดือนกรกฎาคม

-ผู้ประกอบการกว่า 90% เห็นว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมิถุนายนค่อนข้างมากเพราะมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของแผนการฉีดและกระจายวัคซีนของภาครัฐ

-ผู้ประกอบกว่า 63% ประเมินว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน และไม่มีพฤติกรรมในการกักตุน Stock Up เพราะกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนตัวลง

-ผู้ประกอบการ 61% ยอมรับว่าการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว

-ผู้ประกอบการกว่า 41% มีการปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงาน เพราะธุรกิจมียอดขายและ ค่าธรรมเนียนการขายที่ลดลง

-ผู้ประกอบการ 53% มีสภาพคล่องทางการเงินไม่ถึง 6 เดือน สะท้อนถึงภาวะธุรกิจที่ฝืดเคืองและการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการได้รับการแก้ไข

-ผู้ประกอบการ 42% คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2564 จะหดตัว 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2563

-ผู้ประกอบการ 90% ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับปกติ ในช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

-ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

-ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน

-ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน (ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย) หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน

-ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน

“ทั้ง 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐนี้ ทางสมาคมฯ ขอให้ภาครัฐพิจารณาและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะภาค ค้าปลีกและบริการกำลังทรุดหนัก และมีแนวโน้มที่อาจจะต้องปิดกิจการอีกกว่าแสนราย ซึ่งจะกระทบการเลิกจ้างงานกว่าล้านคน รัฐบาลควรเร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็วที่สุด” นายฉัตรชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image