หลังภัยพิบัติโควิด…ธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร ธุรกิจท่องเที่ยวในวันที่ไม่เหมือนเดิม

หลังภัยพิบัติโควิด…ธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร

ธุรกิจท่องเที่ยวในวันที่ไม่เหมือนเดิม

ธุรกิจท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอันเนื่องมาจากภัยพิบัติโควิดมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว สำหรับประเทศไทยธุรกิจท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในห้าของจีดีพี (GDP) โดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ถึง 1.4 ล้านคน การหายไปของนักท่องเที่ยวในปี 2563 ที่เหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากปีก่อนหน้าที่มีเกือบ 40 ล้านคน และรายได้เหลือเพียงสามแสนล้านบาทจากที่เคยได้ถึงเกือบสองล้านล้านบาท อาจคาดได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในปีนี้ก็คงยังไม่กระเตื้อง ด้วยพิษภัยโควิดยังส่งผลมาเกือบสองปีแล้ว ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในสภาวะ “จนตรอก” ที่เหลือเพียงความเชื่อว่าบนความสำเร็จ ความก้าวหน้าของวัคซีนจะนำความมั่งคั่งกลับมาสู่ธุรกิจภายในปลายปีนี้ได้

แต่โลกแห่งความเป็นจริงสมมุติฐานว่าวัคซีนจะมาแก้ปัญหาการระบาดแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมยังมีข้อกังวลว่าจะเกิดขั้นได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้หรือไม่? ดังนั้น การสร้างมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยของผู้เดินทางจะยังคงมีความจำเป็น ถึงแม้ว่ามีความพยายามในการมีมาตรการต่างๆ ในการเตรียมพร้อมเปิดประเทศทั้งโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หรือสมุยพลัสโมเดล แต่ความกังวลของการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้บางประเทศที่มีการเปิดประเทศไปแล้วก็ต้องย้อนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องจะต้องใช้ “จินตนาการแห่งความเป็นไปได้” สร้างแนวทางการท่องเที่ยวท่ามกลางการระบาดหนนี้ให้ได้

Advertisement

การท่องเที่ยวที่เน้นความปลอดภัย (Safe Travel) จะมีความสำคัญมากกว่าการท่องเที่ยวแบบประหยัด (Budget Travel)

หลังภัยพิบัติโควิด...ธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร ธุรกิจท่องเที่ยวในวันที่ไม่เหมือนเดิม

ถึงแม้ว่าวัคซีนในปัจจุบันยังไม่ได้การันตีได้ว่าจะลดการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ แต่อย่างน้อยนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะลดโอกาสเป็นอย่างมากที่จะเป็นผู้ป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มภาระให้กับประเทศที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยว ดังนั้น สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงโรคระบาดหนนี้จะมีลักษณะดังนี้

Advertisement

-แถวการรอคิวด่านตรวจคนเข้าเมืองจะใช้เวลานานขึ้น ด้วยความกังวลว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางจะนำเชื้อโรคมาแพร่กระจายเพิ่มขึ้น การใช้การตรวจเพียงแค่สแกนอุณหภูมิเหมือนเดิมไม่อาจสร้างความมั่นใจได้ การตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนจะต้องมีการดำเนินการ รวมทั้งการพิจารณาความเสี่ยงจากประเทศต้นทางหรือประเทศอื่นที่ได้เดินทางในระยะ 14-30 วันก่อนหน้านี้ การบริหารจัดการที่จะลดความแออัดหน้าด่านตรวจจะเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้

-นิยามฤดูการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม ในความเข้าใจว่าประเทศเราฤดูการท่องเที่ยวจะเป็นช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีที่เป็นไฮซีซั่น แต่นโยบายการปิดและเปิดประเทศจะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดการท่องเที่ยว โดยนโยบายการเปิดและปิดประเทศจะเป็นไปตามโครงสร้างสาธารณสุขว่าจะรองรับดูแลผู้ที่มีอาการหนักจำนวนมากน้อยเพียงใด จำนวนเครื่องบินที่จะนำนักท่องเที่ยวมาก็อาจจะต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายการติดเชื้อทางอากาศ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีมาตรการรักษาระยะห่าง และจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการท่องเที่ยว

-การฟื้นตัวจากการระบาดในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน บางประเทศอาจรอดพ้นจากการระบาด เปิดให้ท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ไม่มีการระบาดได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แต่บางประเทศที่เปิดประเทศไปแล้วมีการกลับมาระบาดอีกรอบจำเป็นต้องการจำกัดการเดินทางอีกหนหนึ่ง เช่น กรณีอิสราเอลและอังกฤษสามารถเปิดประเทศได้ แต่สเปนกับอิตาลียังไม่สามารถรับนักท่องเที่ยว การวางแผนการท่องเที่ยวไปหลายประเทศในทริปเดียวกันอาจมีข้อยุ่งยากและไม่สามารถควบคุมได้ การวางแผนการท่องเที่ยวที่จำเป็นจะต้องได้ข้อมูลเกี่ยวพันเรื่องสาธารณสุขที่ล่าสุดและทันต่อสถานการณ์มีความจำเป็น

-การจัดเตรียมของเพื่อการท่องเที่ยวจะต้องเพิ่มเติมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ฆ่าเชื้อเช่นแอลกอฮอล์ทำความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็น แต่ด้วยข้อห้ามการนำของเหลวที่เกิน 100 ml ขึ้นเครื่องบินจะเป็นอุปสรรค โดยภาระนี้อาจจะต้องให้ทางสายการบิน โรงแรมที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เข้ามาช่วยนักท่องเที่ยว

-การกรอกข้อมูลประวัติ ความเสี่ยงที่จะเป็นผู้กระจายเชื้อโรค จะถูกทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่สนามบิน เคาน์เตอร์รถเช่า สถานีโดยสารสาธารณะ โรงแรมที่พัก ทำให้เกิดภาระสร้างความเบื่อหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย การบริหารจัดการแชร์ข้อมูลนักท่องเที่ยวทันทีที่เข้ามาที่ด่านตรวจและติดตามการท่องเที่ยวเพื่อประเมินความเสี่ยงโดยอัตโนมัติ จะสามารถลดภาระให้กับนักท่องเที่ยวได้

-สภาพสังคมที่วิตกต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยว ในอดีตการไอหรือจามในที่สาธารณะอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สร้างความวิตกต่อสังคมทั่วไป แต่สถานการณ์ปัจจุบันเพียงแค่นักท่องเที่ยวไอหรือจามอันเนื่องมาจากการแพ้อากาศเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างได้ การซื้อประกันสุขภาพพร้อมบริการสาธารณสุขทางไกล อาจเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะสร้างความมั่นใจต่อตนเองและผู้คนรอบข้างได้

-สภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและคุณภาพของการระบายอากาศที่มีการอัพเดตให้ทันสมัยจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่นักท่องเที่ยวต้องการทราบก่อนการเดินทางไปในสถานที่เหล่านั้น และอาจเป็นปัจจัยทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น การเดินทางด้วยระบบรางที่สามารถให้บริการเป็นเคบินส่วนตัว ไม่ได้ใช้ระบบระบายอากาศรวม มีหน้าต่างส่วนตัวในห้องโดยสาร อาจเป็นทางเลือกที่นักท่องเที่ยวสนใจมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยรถโดยสารปรับอากาศหรือสายการบินต้นทุนต่ำ

-จากคุณลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน ทำให้เกิดนักท่องเที่ยวที่มีสภาพการเชื่อมต่อตลอดเวลา (Always Connected Tourist) จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยได้ โดยการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวไม่ได้มีเพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนเท่านั้น รวมทั้งไม่ใช่เพียงภาครัฐเท่านั้นที่จะทำการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวแต่จะต้องเป็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย การยกระดับการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นหนทางในการที่จะทำให้ประเทศเรากลับมามีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ใกล้เคียงเดิม ในวันที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image