ไทยติดลูปโควิด‘คุมระบาด-ฟื้นศก.’ ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ทางออก ทุนน้อยอยู่รอด

ไทยติดลูปโควิด‘คุมระบาด-ฟื้นศก.’ ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ทางออก ทุนน้อยอยู่รอด

ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 หมดไปกับการพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะการลดผลกระทบจากการระบาดโควิดในช่วงปี 2563 และการเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง เพื่อดึงบรรยากาศการใช้จ่ายกลับมามากขึ้น หลายภาคส่วนคาดการณ์ว่าเดือนเมษายน หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ บรรยากาศจะกลับมาคึกคักมากกว่าปีก่อนหน้า ที่การระบาดรอบแรกเกิดก่อนเทศกาลสงกรานต์ จนต้องงดกิจกรรมทุกรูปแบบ เลื่อนวันหยุด การรับมือครั้งแรกๆ ไทยถือว่าชนะเลิศ รัฐบาลอัดแน่นทุกมาตรการที่จะทำให้เชื้อโควิดหมดไป ก็สมใจ จากนั้นไม่นาน ทุกอย่างดูคลี่คลาย ไร้กังวล ออกมาทำกิจกรรมเกือบเท่าปกติ

⦁สะดุดหล่มโควิดระลอกใหม่
จากนั้นก็เจอหล่มอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เหตุเหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งพรวด การระบาดโควิด-19 กินวงกว้างเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆ เริ่มจากสถานบันเทิง เข้าสู่แหล่งองค์กร โรงงาน ชุมชน และครอบครัว จากคลัสเตอร์ขนาดเล็กกลายเป็นขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และกระจายไปทั่วประเทศ เรียกได้ว่าทำให้ประเทศไทยวนกลับเข้าสู่ลูปการระบาด และเข้ากรอบถูกควบคุมอีกครั้ง ปัญหาใหญ่ขึ้นกินพื้นที่กว้างขึ้นความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ต้องให้ทันและใหญ่ตาม เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ แต่เมื่อโควิดเกิดระบาดเป็นระลอกคลื่น ซัดมาถี่ขึ้นรัวขึ้น ประเทศเจอศึก 2 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุขที่ต้องทำอย่างไรที่จะหยุดการแพร่ระบาดโควิด-19 และด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องพยุงอย่างไรไม่ให้ถดถอย !!!

⦁ติดเชื้อทะลุ2หมื่นลากยาว
ผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่า ดูท่าสถานการณ์การระบาดโควิด นอกจากจะไม่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว ยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งทะลุหลัก 1 หมื่นคนต่อวัน และทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) อย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ระดับ 2 หมื่นคนต่อวัน ทำให้เดือนกรกฎาคม รัฐบาลต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ออกมาใช้อีกครั้ง เพื่อควบคุมการระบาด โดยเพิ่ม 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ในการใช้มาตรการสูงสุด โดยใจความสำคัญของมาตรการล็อกดาวน์และการใช้เคอร์ฟิว คือ จะมีผลต่อไปอีก 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดยจะมีการประเมินทบทวนในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 หากสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น จะยืดการใช้ทั้ง 2 มาตรการออกไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่าครั้งนี้ล็อกดาวน์ยาว 30 วัน

อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกรมควบคุมโรค ได้ระบุว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 การระบาดโควิดยังสามารถไปถึงจุดพีคได้อีก โดยกรณีแย่ที่สุด จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดกว่า 3.2 หมื่นคนต่อวันและอาจขยับแตะที่ 3.5 หมื่นคนต่อวันได้ และเกิดการเสียชีวิต 500 รายต่อวัน โดยเริ่มต้นจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อไต่ขึ้นไปสูงกว่า 1.5 หมื่นคนต่อวัน และบางวันอาจสูงถึง 2.2 หมื่นคนต่อวัน ก็ตามด้วยการยกระดับความเข้มข้นการใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวไปทั่วประเทศ

Advertisement

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการใช้มาตรการเข้มขึ้น ว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล มีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่หากล้มแล้วจะลุกยาก จึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือเยียวยารองรับแรงกระแทกไว้ด้วย ส่วนการรับมือกับโควิดที่กำลังระบาดเข้าขั้นวิกฤตอยู่นี้ สำคัญที่สุดคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในคลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อมากๆ ก่อน ซึ่งรัฐบาลจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อคัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เกิดการส่งต่อเชื้อให้กันแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากเมื่อรัฐบาลใช้ล็อกดาวน์แล้ว ก็อยากให้เจ็บและจบได้ เพราะขณะนี้กังวลว่า จะเจ็บแต่ไม่จบ

“การปิดธุรกิจชั่วคราว ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน เริ่มเห็นเอสเอ็มอีบางรายแค่เพียงปิดล็อกดาวน์รอบเดียวก็ไม่รอดแล้ว บางรายอาจรอดมา แต่หากยังต้องปิดๆ เปิดๆ แบบนี้อาจเดินต่อไม่ไหว เพราะการช่วยเหลือและหาแหล่งเงินกู้ไม่ใช่เรื่องง่าย”

⦁รัฐ-เอกชนแห่หั่นเป้าจีดีพี
เมื่อโควิดลากยาวกว่าที่คาดไว้ เท่ากับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นทำให้หลายสำนักด้านเศรษฐกิจ ทยอยปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ปี 2564 อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดจีดีพีปี 2564 เหลือโต 1.0% จากเดิม 1.8% สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดโตที่ 1.3% จากเดิม 1.9% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดโต 1.3% จากเดิม 2.3% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดติดลบ 1.5% จากเดิมคาดโต 0.5-2% ตามมาด้วยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดโตได้แค่ 0.7% จากเดิม 1.8%

Advertisement

แนวโน้มเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยกว่าคาด ขณะที่ภาคธุรกิจทำการค้าได้ลำบากขึ้น จนกระทบต่อรายได้และการจ้างงาน จึงตั้งคำถามว่าแล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งก็มีกูรูด้านลงทุนแนะนำที่จะอยู่รอดในสถานการณ์โควิด-19 ไว้ดังนี้

⦁เฟ้นทางเลือกลงทุน
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เพื่อประคองรายได้และเงินในกระเป๋า ในแง่การลงทุน ต้องแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์หลัก ควรมีหุ้น พันธบัตร (บอนด์) และสินทรัพย์ทางเลือก ทั้งทองคำหรือคริปโตฯ โดยต้องเลือกลงทุนตามสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ความผันผวนไม่สูงขึ้นมากกว่านี้แล้ว ต่อให้จะมีนโยบายการเงินที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ด้วยภาพรวมสภาพคล่อง สินทรัพย์สร้างรายได้ยังน่าจะให้ผลตอบแทนไม่สูงมาก ทำให้นักลงทุนเก็บไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ โดยสินทรัพย์หลักอย่างหุ้น จะเห็นชัดว่าครึ่งปีแรก ตลาดประเทศพัฒนาแล้วทำได้ดีกว่าในฝั่งตลาดเกิดใหม่มาก จึงมองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตลาดอาจทยอยมาในกลุ่มที่ไม่ดีก่อนหน้านี้ อาทิ ประเทศที่ฟื้นตัวได้จากโควิดรอบใหม่

เกษม พันธ์รัตนมาลา CFA กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุเสริมว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หากไตรมาส 3/2564 สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไตรมาส 4/2564 เริ่มเห็นผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัย น่าจะเห็นดัชนีหุ้นไต่ระดับแตะ 1,690 จุดได้ และมีโอกาสปรับขึ้น (อัพไซซ์) ประมาณ 10% โดยหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มธนาคาร น่าจะดีดตัวขึ้น (รีบาวด์) ได้ก่อน แต่หากโควิดไม่สามารถคลายตัวได้ กลุ่มที่รับประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะสาหัสมากกว่าเดิม โดยขณะนี้ประเทศไทย ดูไม่น่าสนใจในสายตาต่างชาติแล้ว เพราะไม่ค่อยมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งความจริง เริ่มเห็นนักลงทุนในประเทศ ย้ายไปลงทุนตลาดทุนของเพื่อนบ้าน หรือตลาดต่างประเทศมากขึ้นแล้ว

ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก มองว่า การลงทุนในทองคำ ขณะนี้ถือว่ามีจุดน่าสนใจและจุดหักเห ที่ทำให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำมากขึ้น โดยแนะนำให้ถือทองคำในพอร์ต 5-20% ขึ้นกับความสามารถในการรับรู้การลงทุนในทองคำและความเสี่ยงของผู้ลงทุน เพราะการซื้อทองคำเพื่อเก็งกำไร ที่ต้องการหวังผลตอบแทนในระยะสั้นๆ จากการทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว ต้องอาศัย 2 ปัจจัยคือ จังหวะในการเข้าซื้อหรือขาย และโอกาสจากการแกว่งตัวของตลาด ซึ่งหากสนใจการลงทุนลักษณะนี้ จะต้องเข้าใจลักษณะ และภาวะตลาดทองคำอย่างแท้จริง

ข้างต้นนั้นเป็นเพียงคำแนะนำบางส่วน การมีชีวิตรอดให้ได้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด และพยุงความเป็นอยู่พ้นก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีก !!

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image