โมเดิร์นเทรดเดี้ยง ความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 3 ปี เกาะติดม็อบการเมือง ซ้ำเติมอารมณ์ซื้อหดหาย

โมเดิร์นเทรดเดี้ยง ความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 3 ปี เกาะติดม็อบการเมือง ซ้ำเติมอารมณ์ซื้อหดหาย

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ โมเดิร์นเทรด ไตรมาส 2/2564 สำรวจช่วง 26 มิถุนายนถึง 20 กรกฎาคม 2564 จากผู้ประกอบการค้าปลีก 119 ราย พบว่า ค่าดัชนีฯอยู่ที่ 45.3 ลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาสและค่าดัชนีต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาสหรือ 3 ปี นับจากการสำรวจครั้งแรกไตรมาส 3/2561 และปรับลดทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของโมเดิร์นเทรดต่อปัจจุบัน และอนาคต อยู่ที่ 46.9 และ 43.7 ซึ่งเป็นระดับค่าปกติที่ไม่ควรต่ำกว่า 50 สะท้อนความวิตกกังวลและสถานการที่ย่ำแย่ของธุรกิจโมเดิร์นเทรด ซึ่งได้ระบุถึงปัจจัยลบการแพร่ระบาดกระจายอย่างรวดเร็วของโควิด-19 รอบ3 เพิ่มเติมมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว จนกระทบต่อการทำธุรกิจแบะแรงงานขาดรายได้ ความกังวลต่อวัคซีน หนี้ครวเรือนสูง วิตกการว่างงานเพิ่ม เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวอย่างหวัง และแผนบริหารจัดงานวัคซีนยังไม่ชัดเจน รวมถึงความวิตกต่อเสถียรภาพทางการเมืองที่เริ่มเห็นผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศ จึงส่งผลโดยตรงต่อรายรับ กำไร จำนวนลูกค้า ทรงตัวถึงแย่ลง ไม่ถึง 15% ระบุยังอยู่ได้ ขณะที่ต้องแบกรับต้นทุนสูง แต่ส่วนใหญ่ระบุยังคงจ้างงานได้อีกระยะ และหันขายผ่านออนไลน์มากขึ้น

“ที่ผ่านมาโมเดิร์นเทรดขยายตัวได้จากการขยายตัวของสังคมเมือง เมื่อการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่กระทบส่งต่อ 29 จังหวัดที่ใช้มาตรการคุมเข้มสูงสุด ซึ่ง 29 จังหวัดมีสัดส่วน 78% ของจีดีพีประเทศ ได้รับผลกระทบ 70% มีสัดส่วนต่อระบบโลจิสติกส์ 75% ครอบคลุม 90% ภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้กังวลความเสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ตามโรงงานและภาคผลิต จนได้กระทบต่อแรงงานลดลงและแผนกระจายสินค้าได้น้อยลง ทั้งนี้ การเกิดโควิดในไทยได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว 5-8 แสนล้านบาท และใน 29 จังหวัดที่คุมเข้มกระทบต่อเศรษฐกิจเสียหาย 4-5 แสนล้านบาทต่อเดือน ตอนนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือเหตุการณ์ทางการเมืองจะเพิ่มแรงกดดันต่อภาคบริโภค รัฐบาลต้องรับมือไปพร้อมกันทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง บวกกับปัญหาเดิมเรื่องเงินใช้จ่ายลดลง การแพร่ระบาดโควิดยังสูง จะกดดันเศรษฐกิจไตรมาส 3/2564 แย่ลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาได้สูง ซึ่งก็ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ การบริโภค และพยุงเศรษฐกิจอย่างไร” นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement

นายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจโมเดิร์นเทรด สะท้อนว่าการแพร่ระบาดของโควิดและการใช้มาตรการเข้มข้น กระทบต่อห่วงโซ่การค้า โดยเฉพาะค้าปลีกกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ภาคเอกชนจึงขอเสนอให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วนนิติบุคคลและค้าปลีกย่อย 3 ประเด็น คือ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการใช้ัจ่าย ขอให้นำ ช้อป ช่วย ชาติ เพิ่มวงเงินเป็น 1 แสนบาทโดยไม่จำกัดสินค้า เพิ่มใช้คนละครึ่งกับรายย่อยในห้าง 2.ลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ขยายการลดภาษีที่ดินและการค้า 90% ที่จะหมดปี2564 ต่อไปถึงปี 2565 รวมถึงลดค่าสาธารณูปโภคให้นิติบุคคลและผู้ค้าเอสเอ็มอี เพื่อให้มีเงินส่วนหนึ่งประคองธุรกิจ 3.ผ่อนปรนให้การจัดส่งสินค้ารายย่อยทั่วไป สามารถจัดส่งสินค้าในช่วงค่ำหรือช่วงเคอร์ฟิว เพราะการจัดส่งสินค้ามักทำในเวลาค่่ำถึงกลางคืน เพื่อให้สินค้าได้มีเพียงพอกับการจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ติดปัญหาเรื่องแรงงานลดลง และขาดซัพพลายเชน 4.รัฐออกมาตรการและเข้มงวดการฉวยปรับขึ้นราคาสินค้าแบบไม่มีเหตุผลในช่วงโควิด 5.เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด้านค้าปลีก และผู้ค้าเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ปกติเร็วขึ้น

“ตอนนี้โมเดิร์นเทรดและค้าปลีกทั่วไปด้วย เจอผลกระทบ 2 ด้าน คือ ดีมานหรือยอดขายลดลง แต่ค่าใช้จ่ายประจำยังมีอยู่ ทำให้ส่วนใหญ่แบกรับภาระรายได้ไม่พอรายจ่าย จนขาดสภาพคล่อง อีกด้านคือเจอปัญหาห่วงโซ่ผลิตและแรงงานผลิตและป้อนสินค้าไปถึงแหล่งค้าปลีกลดลงรวดเร็ว จนเกิดภาวะสินค้าตึงตัวบางช่วงเวลาหรือบางพื้นที่ สะสมนานไปจะเกิดปัญหาได้ 2 ส่วนนี้ที่รัฐควรเร่งช่วยเหลือ” นายสุรงค์ กล่าว

นางสาวชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และกรรมการและเลขานุการกลุ่มค้าปลีก และบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกเดือนกรกฎาคมถือว่าต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ช่วง 7 เดือนเสียหายแล้ว 2.7 แสนล้านบาท จากเดิมต่อปีภาพรวมค้าปลีกไทยมีมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือ 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการแพร่ระบาดโควิดมากขึ้นจนยกระดับมาตรการ กระทบต่อระบบการค้ารวดเร็วด้วย อย่างด้านอาหารสดหรือแห้งนั้น การผลิตไม่ได้ขาดแคลนแต่ตอนนี้ขาดแรงงานขนส่งกระจายสินค้า เพราะแรงงานเริ่มติดเชื้อมากขึ้น ประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลาเดินทางและส่งของ จากปัญหานี้กำลังสะสมให้วัตถุดิบอาหารเหลือแค่ 30% หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก่อนเดือนตุลาคมนี้ กระทบต่อธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นสัดส่วน 1/3 หรือประมาณ 1.2 ล้านราย เฉลี่ย 1 รายจ้างแรงงาน 10 คน เท่ากับกระทบต่อแรงงาน 10 ล้านคนในครั้งเดียว บางรายเริ่มปรับราคาสินค้าเพราะไม่ได้เข้าโครงการคนละครึ่งที่รัฐช่วยเหลือรายได้กึ่งหนึ่ง ก็น่าจะทบทวนเพื่อให้ร้านค้าย่อยในห้างอยู่ได้ อีกทั้งการเข้าไม่ถึงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)ของภาครัฐ อย่างกลุ่มเซ็นทรัลส่งรายชื่อเอสเอ็มอีกว่า 3 หมื่นรายให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ แค่อนุมัติจริงไม่ถึง 10% หากภายใน 30 วันจากนี้ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งทุน และรัฐยังต่อมาตรการคุมเข้ม จะมีร้านค้าอีก 1 แสนรายต้องปิดตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image