สศก. คาดจีดีพีเกษตรทั้งปี64 โตสุด 2.7% พร้อมโชว์ตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรครึ่งปีแรกพุ่ง 7.16 แสนล้าน

สศก. คาดจีดีพีเกษตรทั้งปี64 โตสุด 2.7% พร้อมโชว์ตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรครึ่งปีแรกพุ่ง 7.16 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 ถือว่ารุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง หรือขยายตัวเพียง 0.7% จาก 3% ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี 2564 ขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2/2564 สศก. มีการขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ติดลบ 3.1% โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งปี 2564 สศก. คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7-2.7% ตามเดิมที่คาดการณ์ไว้

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า แม้โควิด-19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงนับเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 หรือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.1% สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู)

อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ โดยผลกระทบที่ได้รับมีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง เพราะมาตรการที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การล็อคดาวน์ และการควบคุมพื้นที่ การจำกัดเปิดร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ โดยผลวิเคราะห์พบว่า กรณีโควิด-19 กระทบ 5 เดือน หรือระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม 2564 มูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ จะลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท

Advertisement

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก กรณี 5 เดือน พบว่า สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าวมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image