“ซีพีออลล์”หนุนปลูกกาแฟหมื่นไร่ ส่งเสริมเกษตรกรดอยช้างเต็มที่ ขายผ่านร้าน7-11

ซีพี ออลล์ เดินหน้าหนุนเกษตรกร ส่งเสริมเกษตรกรดอยช้างปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าหมื่นไร่ พร้อมรับซื้อเมล็ดกาแฟคืนอาราบิก้า ด้าน “บลูคอฟ” ดีลเลอร์ผู้ผลิตกาแฟคั่วป้อนซีพีเผยรายได้ต่อปีสูงถึงร้อยล้าน เตรียมหนุนเกษตรกรปลูกกาแฟออร์แกนิกขายได้ราคาเพิ่มอีกเท่าตัว

นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเปิดเผยว่า ขณะนี้ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นมีการปรับเปลี่ยนนำเอาสินค้าเกษตรมา จำหน่ายมากขึ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ได้เดินหน้านโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าเซเว่นฯทั่วประเทศ รวมถึงการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรบนดอยช้าง จ.เชียงราย ก็เป็นอีกหนึ่งในนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่ดีและมั่นคง เพราะปัจจุบันการดื่มกาแฟสดได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นอย่างเห็นได้ ชัด ทำให้ตลาดมีความต้องการเมล็ดกาแฟที่ดีมีคุณภาพ

ปัจจุบันดอยช้างมีพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ มีกลุ่มชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ผันอาชีพมาปลูกกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะ “กาแฟพันธุ์อาราบิก้า” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคราสนิม ดูแลง่าย ให้ผลผลิตสูง สภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟอาราบิก้านั้นจะต้องเป็นพื้นที่ ที่มีความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป มีอากาศเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18-22 องศาเซลเซียส จะช่วยให้เมล็ดกาแฟเจริญเติบโตและพัฒนาสารอาหารที่พอเพียง ซึ่งดอยช้างมีความสูงเฉลี่ยที่ 1,200-1,500 เมตร จึงเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มี คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

“บริษัทได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูก “กาแฟพันธุ์อาราบิก้า” ในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ เพราะกาแฟอาราบิก้านี้ มีวิธีการปลูกที่ไม่ยุ่งยากหากมีสภาพดินที่ดี ดอยช้างเป็นดินภูเขาไฟเก่าจึงปลูกพืชได้ดี ปลูก 3 ปีก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้ โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ย กาแฟช่วงอายุ 4-6 ปีจะให้ผลผลิตมาก โดยเกษตรกรสามารถเริ่มเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของ ทุกปี

Advertisement

และในแต่ละปีสามารถเก็บเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 500 ตัน กาแฟต้นหนึ่งมีอายุนานถึง 30 ปี หนึ่งฤดูสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 4-5 รอบ ซึ่งดอยช้างถือว่าเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมและอากาศเย็นตลอดทั้งปี ทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนดอยช้างกว่า 300 ครัวเรือน”

โดยมีซีพี รีเทลลิงค์ บริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ เป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรนำมาชงเป็นกาแฟสดจำหน่ายใน “ออลล์ คาเฟ่” (All Cafe) ภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2,000 สาขา และร้านกาแฟ “มวลชน” ซึ่งเป็นร้านกาแฟสร้างอาชีพต้นแบบ สำหรับประชาชนที่สนใจจะทำธุรกิจกาแฟที่มีประมาณ 50 สาขาทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดื่มกาแฟดีในราคาที่เป็นธรรม

นอกจากการรับ ซื้อเมล็ดกาแฟจากดอยช้างแล้ว เซเว่นฯยังเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีภาคเกษตรอีกกว่า 119 รายการสินค้า อาทิ กล้วยหอมทอง, มะพร้าวน้ำหอม,มะม่วง, ผลไม้อบกรอบ และสินค้าเกษตรแปรรูปต่าง ๆ

Advertisement

ด้านนายศุภชัย ศรีวิตตาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท BLUEKOFF จำกัด กล่าวว่า ทางบลูคอฟได้เข้ามาจับมือในลักษณะดีลเลอร์กับซีพีตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ ในเรื่องเครื่องชงกาแฟ เริ่มต้นด้วยการเป็นคนที่ชอบดื่มกาแฟมาก่อน จึงมองว่าเมืองไทยมีกาแฟมากพอสมควร แต่ยังไม่มีตลาดรองรับเท่าที่ควร อาจเพราะขาดองค์ความรู้ด้วยหลายปัจจัย และถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงริเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรบนดอยช้างปลูกกาแฟแล้วทำหน้าที่รับซื้อ จนกระทั่งขณะนี้มีเกษตรกรเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ครัวเรือน บนพื้นที่ปลูก 15,000 ไร่ ในปีที่ผ่านมาบลูคอฟมีกำลังการผลิตเมล็ดกาแฟคั่ว 400 ตัน ทั้งนี้ในอัตรา 80% ส่งขายให้ซีพี รีเทลลิงค์ ราคา 300 บาท ต่อกิโลกรัม ด้วยการซื้อขายภายใต้การทำสัญญาล่วงหน้าปีต่อปี และส่วนที่เหลือก็นำมาแปรรูปในแบรนด์ของตนเอง ซึ่งใน 1 ปีตัวเลขผลประกอบการของบลูคอฟอยู่ที่ราว 100 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย

“ปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 500 ตันต่อปี และในอนาคตจะยกระดับคุณภาพการปลูกกาแฟบนดอยช้างให้เป็นออร์แกนิก เพราะจะให้มูลค่าราคาเมล็ดกาแฟสูงกว่าเท่าตัว ส่วนแผนขยายธุรกิจ ขณะนี้มี 3 โรงงาน กำลังการผลิตอยู่ที่ 1,500 ตันต่อปี เพื่อคัดสรรเมล็ดพันธุ์คุณภาพ และจะนำแนวคิดวิธีปลูกตลอดจนส่งเสริมสู่การสร้างตลาดให้เกษตรกรในพื้นที่ อื่น เช่น พื้นที่ จ.น่านเพิ่มเติม”

นายศุภชัยกล่าวเสริมว่า บริษัทเน้นการแข่งขันตลาดในประเทศมากกว่า แต่หากจะเทียบกำลังการผลิตเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวมีมากกว่าหลายเท่าตัว หรืออินโดนีเซียก็มีตลาดกาแฟที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตกาแฟอยู่ในระดับที่น้อยมาก ทั้งที่ความต้องการในตลาดสูงขึ้น ประกอบกับความนิยมการดื่มกาแฟสดเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่นับวันจะยิ่ง เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ดังนั้นหากภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟเพิ่มมากขึ้น นับว่าจะสร้างมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล เนื่องจากราคาต้นทุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบนดอยช้างอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 บาทต่อกิโลกรัม หากเป็นราคารับซื้อทั่วไปผลสดจะอยู่ที่ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม แต่บลูคอฟจะรับซื้อในราคา 18-23 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผู้ปลูกกาแฟบนดอยช้าง ส่งเสริมเกษตรกรด้วยการเป็นสมาชิก ไม่ใช่ลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ให้เกษตรกรได้ตัดสินใจซื้อขายตามความพึงพอใจ ขายวันต่อวัน และทางบลูคอฟก็จ่ายด้วยเงินสด ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรบนดอยช้างแต่ละครัวเรือนมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท นับว่ารายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image