วิกฤต ‘ชิป’ สะเทือนอุตฯรถ…ยาว!!

วิกฤต ‘ชิป’ สะเทือนอุตฯรถ…ยาว!!

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัว แต่ยังมีบางธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบด้านบวก อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ การขนส่งสินค้า อุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคม

อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคมเติบโตอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากกิจการต่างๆ ปรับรูปแบบให้พนักงานทำงานจากที่พักอาศัยแทน รวมทั้งความต้องการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความบันเทิงในที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ดังกล่าวเติบโตขึ้นมากเช่นกัน

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป รายใหญ่จำนวน 17 ราย มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% ของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ ในปี 2563 ซึ่งผลิตเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย อุปกรณ์สื่อสารแบบมีสาย สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อุปกรณ์ต่อพ่วงของคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องแม่ข่ายและศูนย์ข้อมูล มี 7 ราย เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ NXP Infineon NVDIA AMD Qualcomm Texas instrument และ Renesas

Advertisement

โดยผู้ผลิตทั้ง 7 รายนี้ มียอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 24% ของยอดจำหน่ายทั้งหมดเท่านั้น โดย NXP Infineon Renesas และ Texas instrument เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของเซมิคอนดักเตอร์ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

‘สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์’ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นต่อวิกฤตครั้งนี้ว่า ปัจจุบันกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ได้พิจารณาปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2564 เพิ่มเป็น 1,550,000 -1600,000 คัน โดยเป็นการคงการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไว้ที่ 750,000 คัน แต่ปรับเพิ่มการผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มเป็น 800,000-850,000 คันเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 1,500,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างละ 750,000 คัน เนื่องจากตลาดส่งออกขยายตัวได้ดี แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง คือ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่ยอดขายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สอดคล้องกับ ‘ชัยชาญ เจริญสุข’ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ซึ่งระบุว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10% ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ การระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง เริ่มกระทบต่อกำลังการผลิต ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ค่าระวางเรือขาขึ้น ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงการขาดแคลนชิป ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาดโลก

ล่าสุด ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่ทำให้เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์
สาเหตุแรก ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 โรงงานผลิตยานยนต์ทั่วโลกได้หยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อดำเนินการตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ทำให้คำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์สำหรับยานยนต์ขาดช่วงไป ประกอบกับความต้องการใช้งานเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเติบโต ทำให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ปรับสายการผลิต ไปผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กับระบบ 5G คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) และเครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์)

สอง แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัวกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง แต่กระบวนการสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ใช้เวลานานหลายเดือน โดยการสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์จากโรงงานผลิตเดิมต้องการเวลาล่วงหน้าถึง 4 เดือน ในขณะที่การสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์จากโรงงานใหม่ของผู้ผลิตรายเดิมต้องการเวลาตั้งสายการผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 เดือน และหากผู้ผลิตรถยนต์ต้องการเปลี่ยนผู้ผลิตรายใหม่ ต้องใช้เวลาในการเตรียมการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี หรือมากกว่า นอกจากนั้น หากเซมิคอนดักเตอร์ใช้องค์ความรู้จากสิทธิบัตรของผู้ผลิตรายเดิม จะต้องดำเนินการขออนุญาตผลิตเพิ่มเติม และต้องผ่านกระบวนการภายในบริษัท เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อซึ่งจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปอีก

สาม การเพิ่มกำลังการผลิตในสายการผลิตเดิมไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อยู่ที่ประมาณ 88% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงมากแล้ว และการเพิ่มกำลังการผลิตโดยการตั้งโรงงานใหม่จะใช้เวลากว่า 2 ปีในการก่อสร้าง ผู้ผลิตต้องมีการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ และกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ที่ใช้เวลาในการเตรียมการอีกหลายปีกว่าจะเริ่มผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีจำนวนมากได้

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้พิจารณาเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี จากเดิม 5 ปี แต่ต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงเท่านั้น แต่จากความต้องการพัฒนาเทคโนโลยี และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากำลังการผลิตในปัจจุบัน โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของหลายประเทศพยายามแก้ปัญหา ผ่านการบริหารจัดการกระบวนการจัดซื้อและห่วงโซ่อุปทาน

รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต โดยบีโอไอได้พิจารณาเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี จากเดิม 5 ปี แต่ต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาท แต่การลงทุนตั้งโรงงานใหม่จำเป็นต้องใช้เวลา

อาจส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงระยะเวลา 1-2 ปี เลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image