คิดเห็นแชร์ : แผนการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว #1

ฉบับนี้ผมขอแวะพักเพื่อทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านของเรา คือ สปป.ลาว และนโยบายในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของเขานะครับ สปป.ลาว ไม่มีแผน PDP อย่างเป็นทางการนะครับ แต่มีนโยบายที่ฉบับปัจจุบันใช้ตั้งแต่ปี 2015-2025 เพราะถ้าเราเข้าใจเขา ก็อาจทำให้เข้าใจเรามากขึ้น และในทางกลับกัน ผมว่าทางเพื่อนผมในกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ของ สปป.ลาว ก็คงคิดคล้ายๆ กัน เพราะว่าแผน PDP ของไทยก็มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อนโยบายการพัฒนาไฟฟ้าของ สปป.ลาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ผมเองได้มีโอกาสศึกษาการจัดทำนโยบายไฟฟ้าของ สปป.ลาว มาตั้งแต่ปี 2004 ที่มีบริษัท Maunsell และ LAHMEYER International จาก New Zealand เป็นที่ปรึกษาช่วยจัดทำแต่จำไม่ได้ว่าทางธนาคารโลก (World Bank) หรือธนาคารแห่งเอเชีย (ADB) เป็นผู้สนับสนุน ตอนนั้นกรมไฟฟ้า (Department of Electricity) ยังไม่ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นกระทรวงเลยครับ ยังอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (Ministry of Industry & Handicraft) ซึ่งหลังจากนั้นน่าจะในปี 2006 (2549) นะครับ ที่กรมไฟฟ้าก็ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นกระทรวง โดยเอากรมบ่อแร่ (เหมืองแร่และทรัพยากรธรณี) มารวมกันเป็นกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ (Ministry of Energy and Mines) และกลายเป็นกระทรวงเกรด A+ ของ สปป.ลาว มีกรมและรัฐวิสาหกิจ ที่มีทั้งชื่อและโครงสร้างเหมือนของไทยมากๆ แต่ภารกิจอาจจะต่างกันนิดหน่อยนะครับ (มีทั้ง การไฟฟ้าลาว, กรมธุรกิจพลังงาน, กรมนโยบายและแผนพลังงาน, สถาบันพัฒนาพลังงานทดแทน ฯลฯ)

สำหรับการจัดทำนโยบายไฟฟ้าของ สปป.ลาว ก็มีความคล้ายในเนื้อหาและวิธีการทำเหมือนการทำแผน PDP ของไทย แต่ก็จะมีส่วนต่างอยู่บ้าง ซึ่งผมจะขอเล่าให้ฟังโดยจะขอแบ่งเป็น 3 ตอน นะครับ สำหรับตอนนี้คงจะเล่าถึงเรื่อง ระบบผลิตไฟฟ้า (Generations) และฉบับถัดไปจะขอเล่าเรื่องการพัฒนาสายส่ง (Transmission) และฉบับถัดไปอีกผมจะขอเล่าแนวคิดว่า ไทย-ลาว ควรร่วมมือกันอย่างไร จากปัจจุบันที่มีความร่วมมือดีอยู่แล้ว และยกระดับให้ดีขึ้นไปอีกได้อย่างไร

⦁ศักยภาพกิจการผลิตไฟฟ้าของ สปป.ลาว ในปัจจุบัน
สปป.ลาวถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ทั้งประเทศมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน และมีรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP/per capita) ประมาณ 1,875 USD (ในขณะที่ไทยอยู่ที่ประมาณ 7,700 USD) มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) รวมประมาณแค่ 2,700 MW โดยตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนทำให้อัตราการเจริญเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10-12% ต่อปี กำลังการผลิตของ สปป.ลาวก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีนี้จากการมีกำลังการผลิตติดตั้งเพียง 640 MW ในปี 2000 เป็น 9,480 MW ในปี 2020 โดยส่วนใหญ่เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออกให้ประเทศไทย (ประมาณ 6,000 MW) โดยปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของ สปป.ลาว แบ่งได้ดังนี้

Advertisement

โดยที่ผ่านมา สปป.ลาว ได้ถือว่าทรัพยากร “พลังน้ำ หรือ Hydro Power” เป็นเหมือนขุมทรัพย์หลักในการใช้ผลิตพลังงาน โดยมีการประเมินว่าทั้งประเทศของ สปป.ลาว สามารถที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำมากถึง 26,000 MW แสดงว่ายังมีมากกว่า 80% ของ “Technical Potential Resources” ที่รอการพัฒนาอยู่ ในขณะที่พลังงานทดแทนอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ยังไม่ได้มีการประเมินทางเทคนิค แต่มีการกล่าวถึงว่า หากเขื่อนทุกเขื่อนใน สปป.ลาว ทำระบบ Floating Solar Hybrid กับ Wind Energy ละก็ ต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างชาติได้ “บินหมู่” เข้าไปจับจองแหล่งทรัพยากรพลังงานของ สปป.ลาว กันถ้วนหน้า โดยมีนักลงทุนไทยมาเป็นที่ 1 ที่มีรายงานว่าได้รับสัมปทานแหล่งต่างๆ ถึง 12,984 MW (Hydro : 10,567 MW, Coal : 1,817 MW, Wind : 600 MW) ตามมาด้วยจีน ที่เข้าไปจับจองโครงการต่างๆ ถึง 8,063 MW (Hydro : 6,863 MW, FPV-solar 1,200 MW) และเวียดนามเป็นที่ 3 ที่ 2,380 MW เป็นพลังน้ำทั้งหมด จึงทำให้เห็นว่า สปป.ลาว เป็นขุมทรัพย์ทางพลังงานสะอาดที่ยิ่งใหญ่สมกับที่ทาง สปป.ลาว ตั้งวิสัยทัศน์ที่จะเป็น Battery แห่งเอเชีย

Advertisement

เอาไว้ฉบับหน้าผมจะเล่าให้ฟังเรื่องระบบส่ง เพราะว่าระบบส่งนี่แหละที่ถือเป็นกุญแจสำคัญของการเป็น Battery แห่งเอเชียของ สปป.ลาว เลยล่ะครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image