เปิดใจ ‘เจ้าพ่อสวนลุมไนท์ฯ’ โควิดทำหมดตัว เป็นหนี้กว่า 2,000 ล้าน ยันไม่ยอมแพ้

เปิดใจ ‘เจ้าพ่อสวนลุมไนท์ฯ’ โควิดทำหมดตัว เป็นหนี้กว่า 2,000 ล้าน ยันไม่ยอมแพ้

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด ผู้ปลุกปั้นตลาดนัดกลางกรุง”สวนลุมไนท์บาซาร์”ในอดีตและโครงการ”สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ว่า สถานการณ์โควิด ทำให้จังหวะชีวิตพลิกผันอีกครั้ง หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนเลิกทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยมีหนี้สินติดตัวหลายร้อยล้านบาท แต่กำเงินก้อนสุดท้าย 30 ล้านบาท เช่าที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิมย่านสวนลุมพินีเปิดตลาดกลางกรุง “สวนลุมไนท์บาซาร์” เมื่อปี 2541 เปิดให้บริการปี 2544 มีทั้งพื้นที่ร้านค้าและอพาร์ทเมนต์ให้เช่า

หลังหมดสัญญาได้มาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยติดสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว 20 ไร่ เปิดตลาดนัดกลางกรุงอีกรอบ ชื่อว่า”ตลาดไนท์รัชดา” เป็นการทดสอบตลาด ปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างดี จึงตัดสินใจลงทุนขึ้นโครงการ”สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก”

ใช้เงินลงทุนไปร่วม 3,800 ล้านบาท ที่ตั้งใจจะให้เป็นแลนด์มาร์คของทำเลรัชดาภิเษก แต่
จากสถาวะเศรษฐกิจ การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว บวกกับที่รัฐประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร ทำให้เงินที่หามาได้ทั้งชีวิต 2 ปีนี้ กินทุนไปหมดแล้ว

Advertisement

“ตอนนี้ภาระหนี้สินประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ที่ลงทุนในโครงการสวนลุมไนท์ บาซาร์ รัชดาภิเษก หลังเปิดโครงการไป เพิ่งชำระหนี้คืนแบงก์ไปประมาณ 400-500 ล้านบาท ตอนนี้ขอแบงก์พักชำระหนี้เงินต้น หรือบางที่ก็ขอผ่อนจ่ายแค่ดอกเบี้ย น่าจะช่วยให้บรรเทาภาระไปได้บ้าง

ทุกวันนี้เงินได้มาก็จ่ายดอกหมด บางแบงก์ก็ลดให้ครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ย และมีโปรแกรมมาให้กู้เพิ่มอยู่เรื่อยๆ แต่มีบางแบงก์ก็ทวงบ่อย จะฟ้องผม ผมก็บอกว่าอยากฟ้องก็ฟ้องเถอะ อย่างน้อยผมก็ไม่ได้ล้มละลายคนเดียว ล้มละลายกันทั้งประเทศ แต่ถ้าโควิดหาย ผู้ชายคนนี้ไม่มีทางยอมแพ้ แต่ถ้าโควิดยังอยู่ ผมไม่ได้แพ้ แต่ต้องแพ้ไปโดยปริยาย

วิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อตอนปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เจ็บตัวเฉพาะคนพัฒนาอสังหาฯ คนธรรมดาไม่เดือดร้อน แต่คราวนี้เดือดร้อนกันหมด มองไม่เห็นอนาคต ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งเจ๊งแต่ยังตั้งหลักได้ แต่โควิดมาเขาเรียกว่าไม่ได้เจ๊ง เรียกว่าหมดตัว

Advertisement

ตอนนี้หมดตัว แต่ยังมีหัวใจที่ต้องสู้ ไม่ให้ยอมแพ้ เราเคยจนมาก่อน ก็ไม่เดือดร้อน เคยเริ่มต้นจาก 0 บาท จนทำธุรกิจ 1,000 ล้านบาท ตอนต้มยำกุ้งเหลือเงินไม่กี่บาท ยังต่อยอดมาได้ธุรกิจโรงแรม ตอนนี้เรามีประสบการณ์มาเยอะแยะเราไม่ท้อหรอก แค่ขอให้โควิดหายไปเร็วๆ เราก็สู้ได้ ถ้ายังอยู่ ลำบากกันหมด” นายไพโรจน์กล่าว

ถามถึงมุมมองต่อการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาล นายไพโรจน์กล่าวว่า รัฐบาลอาจคิดช้าไป

“รัฐบาลอาจจะคิดช้าไปหน่อยกับการบริหารจัดการ ต้องมีหน่วยงานที่คิดไปข้างหน้า คิดแอดวานซ์ ไม่ใช่คิดแต่ best case ไม่มี worst case เพราะจริงๆมันเลวร้ายสุดๆเท่าที่เคยเจอมา เหมือนคนที่รู้ว่าน้ำจะท่วม เขาก็เตรียมเรือ ยกบ้าน แต่นี้รู้ว่านำจะท่วม ท่วมแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ไม่เตรียม พอมาพรึบ ที่นอนยังลอยน้ำไปเลย ถ้าคนมีวิชั่นมองการณ์ไกล ถ้ารู้ว่าน้ำจะท่วม ต้องเตรียมเรือ เตรียมโน้นนี่กันไว้แล้ว” 

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ 15 สิงหาคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image