สัมภาษณ์พิเศษ : ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ จับชีพจรสตาร์ตอัพไทย โรครุมเร้าต้องรอด!!

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ จับชีพจรสตาร์ตอัพไทย โรครุมเร้าต้องรอด!!

ธุรกิจสตาร์ตอัพเป็นหนึ่งในประเภทธุรกิจที่มีการพูดถึงมากในปัจจุบัน ในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากแรงหนุนจากรัฐที่ไม่มากพอ แรงเงินทุนยังน้อย ล่าสุดเศรษฐกิจไทยกำลังเสี่ยงอยู่ในภาวะถดถอยเป็นปีที่ 2 หลังประสบวิกฤตโรคระบาดที่รุนแรงและยาวนาน

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้าหน่วยงานของรัฐที่ดูแลให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพโดยตรง

⦁สะท้อนปัญหาสตาร์ตอัพไทยในปัจจุบัน
ปัญหาของสตาร์ตอัพไทยมีหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การลงทุนแบบ VC Matching Fund ประเทศต่างๆ ในอาเซียน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มีกลไกการดำเนินงานที่ไปได้ไกลพอสมควร สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติให้สถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตั้งกองทุนขับเคลื่อนสตาร์ตอัพ 2 พันล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดของธนาคารที่มีกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเข้มงวด ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องมีการปัดฝุ่นหากลไกในการสร้างขีดความสามารถสนับสนุนด้านนี้ เพื่อให้ VC Matching Fund เกิดการขับเคลื่อนในประเทศ

ขณะที่ปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เงินทุนตัวสตาร์ตอัพเองมาจากการ Raise Fund ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก Angle Fund แต่ก็ยังขาดการสนับสนุนช่วง Pre Seed หรือ Seed จากหน่วยงานภาครัฐอย่างไม่สม่ำเสมอ ทำให้แผนการดำเนินงานไม่มีความต่อเนื่อง นอกจากการส่งเสริมเรื่องเงินทุน เพื่อให้สตาร์ตอัพมีเงินทุนหมุนเวียน น่าจะมีการส่งเสริมให้ครบวงจร ไม่ว่าจะตั้งแต่ระดับแรกเริ่ม Pre Seed ต่อมาระดับ Seed ต่อมาระดับ Growth ต่อมาระดับ Series A

Advertisement

ในฐานะที่ดีป้าเป็น Angle Fund คงไม่ให้เป็นเงินทุนเปล่าไปอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ตอัพไปต่อได้ แล้วก็เข้าไปสู่กระบวนการ VC ให้มีความสะดวกมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งที่จะทำให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ปกติการปล่อยสินเชื่อมีความยากลำบาก เพราะหลายสตาร์ตอัพเป็น SaaS ซึ่งไม่มีสินทรัพย์ ซึ่งการปล่อยสินเชื่อควรจะมีการทบทวนเกี่ยวกับการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเอาสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนามาโอบอุ้มให้สตาร์ตอัพเหล่านี้เติบโตได้ อย่าง GSB Smooth Biz ของธนาคารออมสิน สินเชื่อ Factoring ของธนาคารเอสเอ็มอี ซึ่งมีสินเชื่อเดิมอยู่แล้วเอามาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อให้สตาร์ตอัพเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทยที่ทำ Blockchain, Data Market Services, Digital Service, Software as a Service (SaaS) ยังไปได้ดีอยู่ แต่เมื่อไปรวมกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างด้านการท่องเที่ยว อาจจะมีปัญหาเป็นไปตามอุตสาหกรรมหลักๆ

Advertisement

⦁แรงสนับสนุนภาครัฐกำหนดอนาคตสตาร์ตอัพไทย
นอกจากการสนับสนุนของสถาบันการเงินของรัฐแล้ว ยังมีการสนับสนุนสตาร์ตอัพในขั้นแรก Idea Stage ในมหาวิทยาลัยของรัฐต่างๆ ทั้งการปรับปรุงหลักสูตร การขับเคลื่อนระบบบ่มเพาะให้นักศึกษาเหล่านี้ สามารถเป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจได้ ขั้นต่อมาคือ Pre Seed เป็นระดับที่สามารถให้เงินทุนเบื้องต้นได้ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ แต่อาจจะไม่ได้สนับสนุนเงินทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนขั้นต่อมาเป็น Angle Fund ทางดีป้าเป็นหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการอยู่รายเดียว และมีอำนาจที่สามารถทำได้ เป็นการไปร่วมลงทุนด้วย พร้อมรับความเสี่ยงกับสตาร์ตอัพด้วย พร้อมที่จะโตต่อไปถึงขั้น VC ตัวจริง

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาคเอกชนที่เคยทำ Accelerate Program ก็ได้ล้มหายตายจากไป อย่าง dtac Accelerate เป็นปัญหาในเชิงการพัฒนาเป็นเรื่องยาก ตอนนี้อาจจะต้องเปลี่ยนกระบวนการให้คำปรึกษาเฉพาะเรื่องที่สตาร์ตอัพมีข้อจำกัด ไม่เข้าใจในบางเรื่อง คนที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจจะมาเป็นที่ปรึกษา ให้สตาร์ตอัพเติบโตและมีความเข้มแข็งในเชิงการบริหารจัดการ ด้านการเงิน ด้านการตลาด
ภาครัฐต้องสร้างกลไกเพิ่มเติมเพื่อช่วยสตาร์ตอัพ อย่างการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อให้สตาร์ตอัพมีความมั่นคงทางด้านรายได้หรือตลาด ทำให้สตาร์ตอัพสร้างประสบการณ์การทำงาน และพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต มีการคุยกันมานานแล้ว แต่การเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสตาร์ตอัพไม่มีประสบการณ์ ภาครัฐต้องมีการปรับตัวจัดทำ Accelerate Program ช่วยสตาร์ตอัพแต่ละรูปแบบ ซึ่งดีป้ามีอยู่เหมือนกันโดยร่วมมือกับสมาคมสตาร์ตอัพไทย ภาคเอกชนต่างๆ มีหลักสูตรต่างๆ ช่วยเหลือ

ต่อมาสิทธิพิเศษทางภาษี ที่ทำให้ VC มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของ VC Angle Fund มีการพูดถึงในระดับทั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่เสนอให้มีการปรับปรุงระบบภาษีสร้างแรงจูงใจมากขึ้น เรื่องนี้เคยเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2560 แต่มีการตีเรื่องกลับไปให้ทบทวนใหม่ อาจจะด้วยความไม่เข้าใจ จึงต้องมีการทบทวนใหม่กับสิ่งที่เกิดในยุคใหม่ ประเทศอื่นเขาไปดาวอังคารกันหมดแล้ว

⦁อุปสรรคหลายด้าน ดีป้าปรับทำงานเชิงรุก
ดีป้าได้รับงบประมาณจัดสรรประจำปีเพื่อมาดูเรื่องสตาร์ตอัพ ตั้งแต่ 1.ระดับ Incubator คือการสร้างระบบบ่มเพาะ 2.การจัดทำระบบ Business Matching จับสตาร์ตอัพไปเจอกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไปเปิดตลาดที่ต่างประเทศ 3.Accelerate Program การให้คำปรึกษากับสตาร์ตอัพในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไอเดีย กลุ่มเติบโต กลุ่มเติบโตต่างประเทศ แต่ในปีงบประมาณ 2565 ดีป้าไม่ได้รับการจัดสรรเลย ได้รับเพียงงบประมาณ Angle Fund มูลค่า 50 ล้านบาท ก็มีการพิจารณาสนับสนุนเงินทุนสตาร์ตอัพ 50 ราย ซึ่งการจะทำให้เกิดระบบนิเวศในสตาร์ตอัพต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมา ดีป้าได้ลงทุนสตาร์ตอัพในลักษณะ Angle Fund ไปแล้ว 100 ราย ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านบาท บางรายอยู่รอดไปต่อได้ บางรายมีการปิดตัวล้มเลิกไป การประสบปัญหาโรคระบาดหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ

โดย Angle Fund ปกติเป็นการร่วมถือหุ้นอยู่แล้ว แต่เป็นการถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่ไม่ได้มีการค้ากำไร โดยดีป้าจะให้เงินสนับสนุนในระดับ Idea Stage อายุการจัดตั้งธุรกิจไม่เกิน 3 ปี รายละ 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แสนบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนไม่ต้องส่งคืน ส่วน 7 แสนบาท จะเป็นการถือหุ้นโดยคิดเป็นสัดส่วน 25% เป็นการยืนยันว่าสตาร์ตอัพตัวนี้จะไม่ปิดตัวลงก่อน หากไปต่อไม่รอดทางดีป้าจะลงไปช่วยพยุงให้สตาร์ตอัพเติบโตต่อได้ ถ้าสตาร์ตอัพเติบโตมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความแข็งแกร่ง จะเรียกว่า Growth Stage ก็จะมีการให้เงินทุนเพิ่มไปอีก 5 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 50% แต่ต้องผ่านการประเมินคัดเลือก Pitching ร่วมกับนักลงทุนด้วย ดีป้าเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งเดียวที่ทำได้ เพราะถ้าสตาร์ตอัพมีการเติบโตต่อไป การมีดีป้าเป็นผู้ถือหุ้นจะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ปล่อยสินเชื่อให้กับสตาร์ตอัพเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

สิ้นสุดการสัมภาษณ์ ได้เห็นภาพรวมของสตาร์ตอัพไทยกับอุปสรรคที่ค่อนข้างมาก แม้ดีป้าและภาคเอกชนช่วยพยุงให้ขับเคลื่อน แต่ผู้มีอำนาจหลักอย่างรัฐบาลต่างหาก ที่จะอำนวยความสะดวก ขจัดอุปสรรคปัญหาอย่างจริงจัง ส่งสตาร์ตอัพไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เกิดยูนิคอร์นได้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image