‘สภาพัฒน์ฯ’ รับ ศก.ไทยมีข้อจำกัด-ปัจจัยเสี่ยงเพียบ จำใจหั่นเป้าจีดีพีปี 64 โตเหลือ 0.7-1.2%

‘สภาพัฒน์ฯ’ รับ ศก.ไทยมีข้อจำกัด-ปัจจัยเสี่ยงเพียบ จำใจหั่นเป้าจีดีพีปี 64 โตเหลือ 0.7-1.2%

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 สามารถขยายตัวได้ 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% เทียบกับไตรมาส 1/2564 โดยได้แรงสนับสนุนจากด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัวที่ 4.6% เทียบกับการลดลง 0.3% ในไตรมาส 1/2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปี 2564 และปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.1% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 1/2564 โดยรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 0.4% ขณะที่รายจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้น 0.5% และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น 11.6% รวมถึงอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำไตรมาส 2 อยู่ที่ 21% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 20% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 22.9% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2%

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.7-1.2% เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดจาก 1.5-2.5% ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า โดยการแพร่ระบาด  โควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.8 จากระดับ 42.5 ในไตรมาสก่อนหน้า” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญๆ ประกอบด้วย 1.การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง 2.ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ 3.ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 4.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ยังมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2.แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ 3.การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร และ 4.ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวได้กว่า 16.3% การอุปโภคบริโภคจะขยายตัวได้ 1.1% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.7% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 8.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.0-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2% ของจีดีพีรวม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image