‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ แนะรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เชียร์ขึ้น VAT 1% เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ แนะรัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เชียร์ขึ้น VAT 1% เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 4 อาการของเศรษฐกิจไทย อาการแรก คือเกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 หลุมรายได้อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า อาการที่สอง การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่ (1) ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม ต่อวัน) อยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน (2) ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว (3) ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน และ (4) แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก

นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียง 8% เท่านั้น ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึงร้อยละ 52 ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า อาการที่สี่ เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชียอยู่ที่ 11.5% ของจีดีพี ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาคทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% เทียบกับ 4.9% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ จีดีพีของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 4.6% ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว

Advertisement

“การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะยาว ปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพี ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก

“เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

นายเศรษฐพุฒิกล่าวด้วยว่า เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่มกรอบของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี กลับลงมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 0.33%ต่อจีดีพี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image