ธุรกิจในกทม.-ปริมณฑลดิ่งหนัก ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดในประเทศ

แฟ้มภาพ

ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีร่วง กทม.-ปริมณฑลดิ่งหนักสุด

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ปรับลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ระดับ 32.6 มาอยู่ที่ระดับ 30.1 เป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบกำลังซื้อภายในประเทศอย่างหนัก และข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจตามมาตรการควบคุมโรคทำให้ธุรกิจบางส่วนต้องปิดตัวลงชั่วคราว

นายวีระพงศ์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอียังปรับลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 26.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.3 ปรับตัวลงไปต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุด และพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สถานประกอบการหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจการหรือมีการปรับระยะเวลาการเปิด-ปิด บางประเภทต้องปิดเป็นการชั่วคราวตามมาตรการควบคุมโรค รายได้ลดลงแต่ยังแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงปิดกิจการ โดยเฉพาะการห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคกลาง อยู่ที่ 28.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.3 ภาคตะวันออก ระดับ 30.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 32.6 ภาคเหนือ อยู่ที่ 27.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 28.3 ภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 35.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 33.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.8 จาก

Advertisement

นายวีระพงศ์กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 41.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 39.8 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อเมื่อเทียบกับปัจจุบันได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายในระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก การฟื้นตัวอาจล่าช้ากว่าภาคธุรกิจอื่นๆ

“ปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการเอสเอ็มอี 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ 2.ด้านต้นทุน 3.ด้านหนี้สินกิจการ 4.ด้านการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน และ 5.ด้านคู่แข่งขัน” นายวีระพงศ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image