กสิกรไทย ประเมินปีนี้ เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว มูลค่าสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท

กสิกรไทย ประเมินปีนี้ เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว มูลค่าสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ยังทรงตัวสูง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงช่องทางการสั่งซื้อที่หน้าร้าน และการสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ซึ่งกลายมาเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร

วิถีการใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดย ศูนย์วิจัยฯ ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่น่าสนใจ ดังนี้

• ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25 % จากปีก่อน จากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารมีการจัดทำโปรโมชั่นราคาพิเศษและปรับรูปแบบของเมนูอาหาร

• ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหาร จากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 29% ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเซ็กเม้นต์และประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีระดับราคาย่อมเยา ส่งผลต่อเนื่องให้ความถี่ในการสั่งอาหารจากร้านอาหารข้างทางเพิ่มจำนวนมากขึ้น

Advertisement

• พื้นที่การสั่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯรอบนอก และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากขึ้น สอดรับกับการปรับรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working ซึ่งผลสำรวจพบว่า หลังจากการระบาดในเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 83% โดยการที่ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น นอกจากจะส่งผลให้ระยะทางเฉลี่ยในการจัดส่งอาหารลดลง ยังทำให้ผู้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารปรับมาทำการตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งร้านอาหารและผู้จัดส่งอาหารในบริเวณดังกล่าวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารหลายรายได้เร่งทำการตลาด จัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร และช่วยดึงดูดผู้บริโภครายใหม่ให้เข้ามาทดลองใช้งานในแพลตฟอร์มและเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผู้บริโภครายเดิมเช่นกัน

ทำให้ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า ทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 35 – 45 ล้านครั้ง และจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4 – 24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

Advertisement

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการร้านอาหารจะยังคงเน้นเพิ่มความระมัดระวัง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนมายังร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยจำกัดความเสี่ยงในการลงทุน ยังช่วยลดต้นทุนหมุนเวียน และตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบร้านอาหารขนาดเล็กที่คาดว่าจะได้รับความสนใจ ได้แก่ ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน (Cloud kitchen) และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจะรวมร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเข้ามาอยู่ใน Cloud kitchen ของตน รวมถึงร้านอาหารแบบ Kiosk/Corner ที่นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถช่วยลดระยะทางเฉลี่ยในการจัดส่งอาหาร ส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนและระยะเวลาการจัดส่งจากร้านอาหารไปยังผู้บริโภคลดลงจากเดิมอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image