‘แอตต้า’ ชี้ท่องเที่ยวไทยปี 64 หมดหวังแล้ว หลังโควิดระบาดหนัก ทำเดินทางชะงัก-ต่างชาติมาน้อย

แอตต้าชี้ท่องเที่ยวไทยปี 64 หมดหวังแล้ว หลังโควิดระบาดหนัก ทำเดินทางชะงัก-ต่างชาติมาน้อย

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการ ท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี 2564 ช่วงที่เหลืออีก 4 เดือนก่อนหมดปี แนวโน้มมองว่าปีนี้ไม่น่าจะมีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาแล้ว เนื่องจากเห็นการระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก กลับมาพบการระบาดระลอกใหม่ขึ้น รวมถึงสถานการณ์การระบาเโควิดในประเทศ ที่ยังพบผู้ติดเชื้อทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตทำระดับสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ต่อเนื่องเช่นกัน จึงมองว่าความหวังในปีนี้น่าจะจบแล้ว ต้องรอฝากความหวังไว้ในปี 2565 ทีเดียว หลังจากตอนแรกที่คาดว่าจะสถานการณ์จะดีขึ้น แต่เมื่อมีการกลับมาระบาดซ้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเอง ที่ยังไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ ก็คงคาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยยากมากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาทั้งปี 2564 มองว่าจะให้ถึง 1 ล้านคนคงยาก เพราะสถานการณ์ยังไม่เอื้อมากเท่าที่ควร บวกกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างแท้จริง แบบที่ไม่มีการทำงานหรือจุดประสงค์อื่นร่วมด้วย ประเมินว่าน่าจะมีค่อนข้างน้อย

การระบาดโควิดในประเทศไทย พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่สามารถคุมการระบาดได้ ซึ่งความจริงแล้ว กรุงเทพฯ ถือเป็นประเทศไทย เพราะหากต่างชาตินึกถึงประเทศไทย ก็จะนึกถึงกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้หากโควิดยังระบาดรุนแรงอยู่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทรงตัวสูงหลักหมื่นหรือ 2 หมื่นคนต่อวัน และยังไม่สามารถกดตัวเลขให้น้อยลงมาได้การประชาสัมพันธ์ และสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติแยกมองเป็นรายจังหวัดหรือรายพื้นที่ในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวคงเป็นไปได้ยาก โดยสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการมากที่สุดคือ การนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกัน และต้านทานความรุนแรงของไวรัสเข้ามาให้มากที่สุด เพื่อฉีดให้กับประชาชนในประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีความต้องการฉีด แต่ไม่มีวัคซีนฉีดที่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย70-80% ของประชากรรวมในประเทศ แบบเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะบุคลากรด้านหน้า และบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว ที่จะต้องให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไปนายศิษฎิวัชร กล่าว

นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า สำหรับกรณีการกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤตโควิด และเยียวยาประชาชนชน รวมถึงภาคธุรกิจนั้น มองว่าควรใช้เงินเพื่อสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาให้ได้มากที่สุด และสำคัญคือวัคซีนจะต้องมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นควรวางแผนในการใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดโควิด รวมถึงภาคธุรกิจด้วย เนื่องจากหากธุรกิจไม่สามารถยืนอยู่ได้ หลังคุมโควิดอยู่แล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงเป็นไปได้ยากและล่าช้ากว่าที่คาดไว้ เพราะภาคธุรกิจที่เป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนธุรกิจล้มหายตายจากหมดแล้ว นอกจากนี้ ควรต้องใช้เวลาช่วงนี้ในการปรับโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งความจริงมองว่าโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่ต้องพัฒนานั้น มีงบประมาณอยู่แล้ว แต่อยากให้พยายามผลักดันให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมก่อนเปิดประเทศจริง เพื่อให้เมื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แล้ว ทุกอย่างจะสามารถเดินหน้าต่อได้ทันที ไม่เกิดการสะดุดอีกรอบ เพราะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า นอกจากนี้ หากมีองค์กรหรือสถาบันเอกชนที่สามารถคิดค้นวัคซีน หรือวิจัยต่อยอดและพัฒนาวัคซีนที่สามารถต้านไวรัสได้ หน่วยงานภาครัฐควรต้องให้การสนับสนุน ผ่านการจัดตั้งงบประมาณให้ ซึ่งจะต้องเป็นงบประมาณที่หยิบให้ไปทั้งก้อน ไม่ตกหล่นระหว่างทาง เนื่องจากตอนนี้ปัญหาที่ ไทยยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้เร็วเท่าที่ควร เป็นเพราะประเทศผู้ผลิตวัคซีนมีวัคซีนไม่เพียงพอในการจัดส่งให้ ทำให้หากไทยสามารถผลิตวัคซีนเองได้ และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพก็ต้องสนับสนุนและผลักดันให้ออกมา เพื่อเร่งฉีดให้กับคนไทย เพราะความจริงแล้วมองว่าทีมบุคลากรทางการแพทย์ของไทย มีความเก่งและเชี่ยวชาญไม่แพ้ต่างประเทศแน่นอน ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องประชาสัมพันธ์สถานการณ์จริง และเลือกใช้คำที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงไม่สร้างความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารเป็นวงกว้าง เพราะส่งผลกระทบต่อภาพรวม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image