คิดเห็นแชร์ : งานเลี้ยงกำลังจะเลิกรา?… Fed กำลังจะลดการปั๊มเงิน

คิดเห็นแชร์ : งานเลี้ยงกำลังจะเลิกรา?... Fed กำลังจะลดการปั๊มเงิน

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะขอแชร์มุมมองต่อสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในแวดวงนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกหลังจากมีการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ของ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ กรรมการ Fed ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า Fed ควรจะเริ่มปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงภายในปีนี้ หรือกล่าวคือ Fed กำลังจะลดการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบการเงินที่เริ่มต้นทำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE ส่งผลให้ปริมาณเงินในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้และส่งผลมายังตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ อาทิ ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดปริวรรตเงินตรา เป็นต้น ฯลฯ ผลของมาตรการ QE ทำให้ Valuation ของสินทรัพย์ต่างๆ เกิดความ Premium ขึ้น (PE ของหุ้นปรับสูงขึ้นกว่าระดับปกติ) ดังนั้นประเด็นความกังวลเรื่องการเตรียมทยอยลดวงเงินที่ใช้ในมาตรการ QE ของ Fed จึงมีนัยสำคัญต่อตลาดการเงินทั่วโลก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2556 ที่ Fed ตัดสินใจลดวงเงิน QE ลง หลังจากที่ใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551ตลาดหุ้นไทยหรือดัชนี SET index ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดที่ราว 1,650 จุด (เดือนพฤษภาคม 2556) สู่ระดับต่ำสุดที่ราว 1,205 จุด (เดือนมกราคม 2557) ก่อนที่จะฟื้นตัวหลังจากนั้น ดังนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังจะผลักดันให้เกิดการลดวงเงิน QE จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดการเงินให้ความสนใจ และอาจเป็นตลกร้ายของวงการการเงินที่นักลงทุนกลัวช่วงการเริ่มต้นฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันอาจมีความแตกต่างจากในปี 2556 เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ภายหลังการเริ่มใช้มาตรการ QE เป็นยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2552-ธันวาคม 2555 สูงถึงราว 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับมีการไหลออกของเงินลงทุนดังกล่าวเกือบทั้งหมดภายในปี 2556 (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2556-ธันวาคม 2556 ราว 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในทางกลับกันเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่เดือนเมษายน 2563-กรกฎาคม 2564 กลับเป็นการไหลออกหรือขายสุทธิรวมถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้อานิสงส์จากมาตรการ QE ของ Fed รอบนี้สักเท่าไหร่นัก นอกจากนี้หากพิจารณาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในช่วงเวลาเดียวกัน (เม.ย.2563-ก.ค.2564) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ไปราว 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ / ตลาดหุ้นเวียดนามถูกนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ / มีเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่มียอดซื้อสะสมสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็เป็นเม็ดเงินเพียง 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น ผมจึงประเมินว่าเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับลงรุนแรงเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556 จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องเกือบทั้งปี 2556 ที่เป็นผลจากการลดวงเงิน QE ของ Fed นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากแทบจะไม่มีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเลยสำหรับการใช้มาตรการ QE รอบล่าสุดในปี 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย อย่างไรก็ดีแม้ Downside จะจำกัด แต่ Upside ของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นในภูมิภาคก็จะถูกจำกัดไปด้วย เนื่องจากคงไม่สามารถคาดหวังเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยได้มากนัก และคงต้องรอการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงหลังพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 ถึงจะเป็นการสร้างแรงดึงดูดตามปัจจัยพื้นฐานให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจปรับพอร์ตการลงทุน เปลี่ยนจากตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกที่ปรับขึ้นมามากและกำลังจะหมดแรงผลักดันจากมาตรการ QE มายังตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย (รวมถึงตลาดหุ้นไทย) ที่ยัง Laggard

Advertisement

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทย ผมประเมินว่ามีโอกาสที่นักลงทุนจะทำการหมุนกลุ่มเล่น หรือ Sector Rotation จากหุ้นกลุ่มที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวโดดเด่น มายังหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา อาทิ หุ้นกลุ่มค้าปลีก หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวเป็นต้น ฯลฯ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มพิจารณาถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่เริ่มจะทรงตัวแล้ว อย่างไรก็ดีผมยังแนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อสะสมเมื่อราคาอ่อนตัวสำหรับหุ้นกลุ่มนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่อาจจะผันผวนตามการรายงานสถานการณ์โควิด-19 รายวัน จนกว่าภาครัฐจะเริ่มตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image