ปลดล็อก ‘กระท่อม’ อีกก้าวใหญ่  ‘ภูมิปัญญาไทย’

ปลดล็อก ‘กระท่อม’ อีกก้าวใหญ่  ‘ภูมิปัญญาไทย’

ทันทีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาประกาศว่า กฎหมายที่นำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ เสียงตอบรับด้วยความตื่นเต้นยินดีจากฝ่ายต่างๆ ก็ดังขึ้นทันที

ลองตรวจสอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้กฎหมายรองคือ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม อยู่ในขั้นตอนของการรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในส่วนของ กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีทั้งสิ้น 39 มาตรา โดย กมธ.ได้ปรับลดความยุ่งยากอยากให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด สามารถปลูก ใช้ และจำหน่ายได้อย่างเสรี มีเรื่องของการนำเข้าและส่งออกที่ต้องขออนุญาตกับทาง ป.ป.ส.และการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องของอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และ พ.ร.บ.พืชกระท่อม เพื่อมาควบคุมกำกับโดยตรง

พ.ร.บ.พืชกระท่อม จากนี้ไปการปลูกพืชกระท่อม การนำเข้า การส่งออกเชิงพาณิชย์ การขายในระบบอุตสาหกรรม จะต้องดูเรื่องปริมาณ จะต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎหมาย รวมถึงเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ผู้ขอรับอนุญาต หรือผู้ปลูก ผู้ขาย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกพืชกระท่อม ก็จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน จะมีการออกมาตรการมาคุ้มครองว่าจำนวนเท่าไหร่ที่บริโภคแล้วถือว่าเป็นอันตราย เพราะจะต้องจำกัดในการบริโภคด้วย

Advertisement

ส่วนเรื่องการขายน้ำต้มกระท่อม อาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่สามารถทำได้ หรือแม้แต่การขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม ในสถานศึกษา หอพัก หรือในวิธีอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ เช่น การขายโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ตรงนี้ไม่สามารถดำเนินการได้

ความจริงแล้วต้นกระท่อมปลูกอยู่ริมรั้วตามบ้านเรือนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้ เป็นภาพชินตาที่รุ่งเช้าก่อนออกจากบ้านไปกรีดยาง ชาวปักษ์ใต้มักแวะเก็บใบกระท่อมใส่ถุงติดตัวไปด้วยเสมอเสมือนของคู่กาย เมื่อยามสายๆ หยิบใบกระท่อมเคี้ยวกินได้มีเรี่ยวแรงทำงานต่อไปหลายชั่วโมงจนกลับบ้าน แม้แต่ชั้นกรรมกรแบกหาม คนขับรถ ใบกระท่อมจึงเป็นวิถีชาวบ้านที่รูดมาเคี้ยวกินตอนไปทำสวน ทำไร่ ได้มีพละกำลังทำงานได้นาน ซึ่งทุกบ้านมักมีใบกระท่อมวางไว้รับผู้มาเยี่ยมเยียน ไม่ต่างจากกินหมากพลูของชาวภาคกลาง

จริงๆแล้วชาวบ้านรู้สรรพคุณใบกระท่อมช่วยรักษาแก้ปวดเมื่อย, ปวดหัว, เป็นไข้, ปวดท้อง, ท้องเสีย ฯลฯ เป็นภูมิปัญญาใช้พืชในท้องถิ่นรักษาโรคมาก่อนตั้งแต่ยังไม่มียาเม็ดสารเคมีแผนปัจจุบัน

Advertisement

จากการสำรวจชุมชนนำร่อง “บ้านดอนทราย” หมู่ 4 ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร ที่มีประชากร 72 ครัวเรือน มีต้นกระท่อม 189 ต้น ให้เป็นโมเดลในการวิจัย และขยายเป็น 6 หมู่บ้าน บ้านยางอุ้ง บ้านน้ำพุ บ้านนายาว-ดอนสร้อยทอง บ้านดอนทราย บ้านหนองต้อ และบ้านควรใหม่ “นายสงคราม บัวทอง” กำนัน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร ผู้นำชุมชนนำร่องบอกว่า พื้นที่ ต.น้ำพุ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่ได้ศึกษาใช้ประโยชน์พืชกระท่อมมาตั้งแต่ปี 2559 พี่น้องประชาชน ต.น้ำพุ ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการนำผลผลิตพืชกระท่อมในรูปแบบต่างๆ และเตรียมต่อยอด นำพืชกระท่อมมาแปรรูปผลิตน้ำกระท่อมสกัดเย็นเพื่อจำหน่ายเกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยมีสมาชิกตามธรรมนูญหมู่บ้าน 120 คน ครอบครองต้นกระท่อมรายละ 3 ต้น มีใบกระท่อมวันละ 100 กิโลกรัม ที่ส่งผลิตแปรรูป ถือเป็นการนับหนึ่งนำพืชกระท่อมสู่เชิงพาณิชย์

ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ร่วมกันทำประชาคมออกกติกาชุมชนโดยมีธรรมนูญควบคุมดูแลไม่ให้แต่ละครัวเรือนมีต้นกระท่อมเกิน 3 ต้น หากเกินให้โค่นทิ้ง ส่วนที่มีไม่ถึงให้มีเท่าเดิมไม่ให้ปลูกเพิ่ม จากต้นกระท่อมทั้งหมดใน ต.น้ำพุ จำนวน 1,873 ต้น ได้ดำเนินการติดรหัสคิวอาร์โค้ดประจำต้นไว้ 1,541 ต้น ซึ่งมีนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าดำเนินการวิจัยด้านสังคมและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำวิจัยการสกัดจากใบกระท่อม

“แต่ถ้ามองเป็นพืชเศรษฐกิจรัฐอาจจะให้ปลูกได้มากกว่า 3 ต้น หรือไม่เกินครัวเรือนละ 1 ไร่ เพราะ 1.ต้องปลูกไว้เพื่อบริโภค และ 2.ปลูกเพื่อจำหน่าย แต่ทั้ง 2 ประเภทจะต้องให้มีการขึ้นทะเบียนเหมือนเกษตรกร” นายสงครามระบุ

ด้าน “นายวิชวุทย์ จินโต” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า ประชาชนชาว ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร เป็นหมู่บ้านเข้มแข็งตัวอย่างที่มีการออกกฎระเบียบของหมู่บ้านดูแลร่วมกันในการครอบครองพืชกระท่อม มีกรอบกติกาข้อกำหนดชัดเจนเป็นธรรมนูญของชุมชนไม่มีการทำผิดกฎหมาย จนเป็นพื้นที่นำร่องตัวอย่างที่มีหน่วยงานและชุมชนต่างๆ มาศึกษาดูงาน ถือเป็นต้นแบบของประเทศ วันที่ 24 ส.ค.นี้ พืชกระท่อมจะถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ประชาชนสามารถเคี้ยว ต้มเป็นน้ำชา หรือสามารถพกพาไปเคี้ยวกินได้ และสามารถผลิตนำเข้าและส่งออกเพื่อการค้าได้ แต่กฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดยังมีข้อห้ามนำใบกระท่อมไปต้มโดยมีส่วนประกอบของสารเคมีชนิดอื่นที่ยังมีความกังวัลเยาวชนอาจนำไปประกอบเป็นสารเสพติด เช่น สูตรสี่คูณร้อย อย่างไรก็ตาม การนับหนึ่งปลดล็อกพืชกระท่อมสู่ผลผลิตน้ำกระท่อมสกัดเย็น ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร ยังมีหลายแนวทางที่จะพลิกจากพืชเสพติด มาเป็นตัวยารักษาโรคแพทย์แผนไทยได้จากการนำสาร สกัดไมตาซีมีนจากใบกระท่อมแปรรูปเป็น

ผงกระท่อมในแคปซูล เพราะสารตัวนี้สามารถทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง และลดภาวะน้ำตาลในเลือด พืชกระท่อมวันนี้ไม่ใช่ผู้ร้ายในสายตานักกฎหมาย แต่คือพืชภูมิปัญญาที่ภาครัฐควรยกระดับให้เป็นตัวยาชั้นดี หรือสินค้าเกษตรส่งโรงงานเภสัชกรรม เพราะต่อจากนี้ใบกระท่อมจะมีค่าเฉกเช่นกัญชา มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นโฉมหน้าใหม่ของพืชพื้นบ้านของประเทศไทยเราเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image