รวมพลคนร้านอาหารลุยหารือ ‘ประยุทธ์-อนุทิน’ 24 ส.ค.นี้ ขออาชีพคืน หลังล็อกดาวน์ฉุดรายได้วูบ 34,100 ลบ.ต่อเดือน

รวมพลคนร้านอาหารลุยหารือ ‘ประยุทธ์-อนุทิน’ 24 ส.ค.นี้ ขออาชีพคืน หลังล็อกดาวน์ฉุดรายได้วูบ 34,100 ลบ.ต่อเดือน

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ สมาคม และภาคเอกชนได้รวมกลุ่ม เพื่อนัดหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความชัดเจนในแนวทางการกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์และสั่งห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้าน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมาตรการและคำสั่งดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกว่า 29 จังหวัด ทำให้เห็นผู้ประกอบการจำรวนมากต้องปิดกิจการลง และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังจะปิดกิจการลงอีก เนื่องจากรายได้ลดลงเหลือเพียง 20% เท่านั้น เพราะรายได้หลักของร้านอาหารกว่า 80% เป็นรายได้ผ่านการนั่งทานที่ร้าน โดยหากประเมินเม็ดเงินของธุรกิจอาหารในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ขึ้น เมื่อไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ เท่ากับยอดขายหายไป 80% คิดเป็นรายได้ที่ธุรกิจสูญเสียกว่า 1,100 ล้านบาทต่อวัน เท่ากับว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานั้น มีเม็ดเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจแล้วกว่า 34,100 ล้านบาท

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านอาหารทุกประเภทมีการปรับตัวเองอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะการระบาดโควิดลากยาวกว่าคาด และผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ทำให้แม้ร้านอาหารจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่รัฐบาลสั่งลงมาทุกครั้ง และปรับปรุงร้านอาหารให้ได้มาตรการเข้มข้นพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับลูกค้า อาทิ เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย (เอสเอชเอพลัส) แต่เมื่อร้านอาหารต้องถูกปิดกิจการเป็นกลุ่มแรกเสมอ ในการระบาดระลอกใหม่ทุกระลอก ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ เศรษฐกิจรวม และภาวะสังคมด้วย เนื่องจากร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซัพลายเชนหลายประเภท และมีการจ้างงานจำนวนมาก จึงอยากให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการและเปิดทางให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติมากขึ้น

“สิ่งที่อยากได้มากที่สุดในตอนนี้คือ ความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ว่าจะสามารถเปิดร้านอาหารได้ในช่วงไหน อาทิ เร็วที่สุดภายในวันที่ 1 กันยายนนี้ หรืออย่างช้า วันที่ 15 กันยายนนี้ เนื่องจากตอนนี้ไม่รู้เลยว่าในการหารือกันของรัฐบาล หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีการหารือกันในประเด็นใด ยกเหตุผลหรือสถานการณ์อ้างอิงอย่างไร และจะเดินหน้าไปทิศทางใดต่อ โดยผู้ประกอบการในขณะนี้ไม่ใช่ว่าไม่กลัวการระบาดโควิด หากเปิดธุรกิจก็กลัวการติดเชื้อเช่นกัน แต่เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความสาหัสมาก สายป่าน หรือสภาพคล่องของธุรกิจหมดแล้ว แทบจะยืนไม่ไหวกันแล้วจริงๆ ทำให้จำเป็นต้องขอดำเนินธุรกิจ ให้มีรายได้เข้ามาเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมบ้าง เพราะความจริงหากเปิดธุรกิจอีกครั้ง และเกิดการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ ก็ต้องมาปิดอีกรอบ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีกับผู้ประกอบการเหมือนกัน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งควบคุมการระบาดโควิดคู่กับการฉีดวัคซีนด้วย” นางฐนิวรรณกล่าว

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่จะเข้าร่วมการหารือในวันดังกล่าว อาทิ นายประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด, นายชาญ เรืองรุ่งกรรมการบริหาร บริษัท ครัวแม่ศรีเรือน จำกัด, นายชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลิน 2 ดาว เจ้าของร้านไทยต้นตำรับสุดหรูแบบไฟน์ไดนิ่ง ในชื่อร้านอาหาร (R-HAAN), นายเกษมสันต์ สัตยารักษ์ เจ้าของร้านอาหารแบรนด์ คอปเปอร์ บุฟเฟ่ต์ (Copper Buffet), นาย  บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นายดุษฎี ผลานุวัตร เจ้าของเพจเฟซบุ๊กชื่อ เพื่อนแท้ร้านอาหาร, นางสาวนิษฐา รัชไชยบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สีฟ้าลุมพินี จำกัด, นายนพพร วิฑูรชาติ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), นางนันทภัส อัจมาลย์วรา ร้านอาหารวอเตอร์ไซด์ รีสอร์ท เรสเตอรองท์ (Waterside Karaoke Restaurant), นายภูสิทธิ์ วิสุทธิธาดา ผู้บริหาร ร้านอาหารแบรนด์สามเสนวิลล่า, นางลินดา บูรณะชน ร้านอาหารครัวเจ๊ง้อ, นางอนัญญา พลเยี่ยม เจ้าของร้านอาหารชื่อ เจ๊ญา ส้มตำเมืองทอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image