“มหิดล” จับมือ “ซีพีเอฟ” พัฒนาบุคลากรทั่วโลก ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวล.

“มหิดล” จับมือ “ซีพีเอฟ” พัฒนาบุคลากรทั่วโลก ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวล. หนุนสร้างความมั่นคงทางอาหาร

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดทำโครงการ “พัฒนาบุคลากรตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน” ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถทำงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำร่องจัดอบรมให้กับพนักงานของ ซีพี เวียดนาม เป็นแห่งแรก มหิดล ร่วมกับ ซีพีเอฟ จัดอบรมหลักสูตร “ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน” เพื่อพัฒนาบุคลากรในต่างประเทศ ให้สามารถนำระบบมาตรฐาน CPF SHE&En ไปดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมในการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอาหารที่รับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อมตามหลักสากล สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟในครั้งนี้ เป็นการนำองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษามาต่อยอดกับโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ที่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคม โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สำหรับซีพีเอฟ ขึ้น และใช้จัดอบรมให้กับบุคลากรของซีพีเอฟ กิจการในต่างประเทศ เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภาคการผลิตอาหารให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติที่ดีในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีต่อพนักงาน และชุมชน การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอาหารที่ยั่งยืน

“ภาคเอกชนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างมหิดลและซีพีเอฟในการพัฒนาหลักสูตรที่ออกแบบขึ้นเป็นการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ของมหิดลและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ช่วยให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำองค์ความรู้ต่อยอดไปสู่การปฏิบัติจริง รวมถึงนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องได้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กร ขณะเดียวกัน ยังเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษาที่ได้นำประสบการณ์ของภาคเอกชน สำหรับการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม” รศ.ดร.ชะนวนทอง กล่าว

ด้าน นายชัยวุฒิ เมฆโหรา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจผลิตอาหารสัตว์บก และ Innovation และ SHE&En เขตประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวว่า ซีพี เวียดนาม ในฐานะบริษัทผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมเวียดนาม ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในเวียดนาม ตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ของ ซีพีเอฟ โดยการสนับสนุนให้บุคลากรทางด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงานของบริษัทฯ ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ดูแลพนักงานให้ทำงานด้วยความปลอดภัย มีอาชีวอนามัยที่ดี มีการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่สามารถตอบรับกับความคาดหวังของผู้บริโภค และร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนชาวเวียดนาม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)

Advertisement

“มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีคณาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับบุคลากรของบริษัทฯ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงานขององค์กรก้าวสู่ระดับสากล และมีส่วนสร้างโอกาสและพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารของเวียดนามบนเวทีการค้าโลกได้” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์กร มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย การบริหารจัดการด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินธุรกิจ สร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับองค์กร ทั้งในแง่การเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ มีการป้องกันความเสี่ยงหรือการเสียหาย การจัดการต้นทุนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ช่วยให้องค์กรมีผลดำเนินงานอยู่ในระดับแนวหน้า./

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image