‘อาคม’ ชี้ไทยมีแผนกระตุ้น ศก.ปี 65 ให้โต 4-5% โควิดยังหนัก ประมาณการณ์ปี 64 เหลือ 1.3%

‘อาคม’ ชี้ไทยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 65 ให้โต 4-5% โควิดยังหนัก ประมาณการณ์ปี 64 เหลือ 1.3% ยันสถานภาพทางด้านการเงินไทยยังแกร่ง พร้อมทบทวนเพดานหนี้สาธารณะหากจำเป็น เชื่อภายในสิ้นปี 64 ยังไม่เกินกรอบ 60%

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “สร้างความพร้อมประเทศไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19” ในงาน Thailand Focus 2021 : Thriving in the Next Normal จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ในขณะนี้ ประเทศไทยยัง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดสรรทรัพยากรที่มีเพื่อให้เกิดการควบคุมการระบาด ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางของประชาชนลดน้อยลงไป ซึ่งมีผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2564 หยุดชะงัก

นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 ลงเหลือ 1.3% เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุด ในช่วงไตรมาสสองในปี 2654 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่ง รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน อาทิ โครงการคนละครึ่ง หรือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ได้ช่วยประคองสถานการณ์ของการบริโภคภายในประเทศเอาไว้ ในอีกด้าน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของต่างประเทศ ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ดี ช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเกือบ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และการส่งออกของเดือนมิถุนายนก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว อันเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้ ยังเห็นการขยายตัวในด้านการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน

นายอาคม กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองของปี 2564 จะเติบโตถึง 7.5% แต่สภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แข็งแกร่งนัก รวมทั้งการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 และ 3 ส่งผลในใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าที่คาดไว้ ทำให้หน่วยงานที่สำคัญต่าง ๆ ในประเทศพากันปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 0.7% และสำหรับในปี 2565 อยู่ที่ 3.7% ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิม 1.5-2.5%

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มทุกกำลัง และ ทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้โมเดลภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์และสมุยพลัส ซึ่งสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2565 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4.0-5.0% ได้ รวมทั้งในช่วงต่อไปนโยบายของรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งตั้งขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ก็สามารถที่จะทบทวนเพื่อที่จะยกระดับเพดานดังกล่าวได้

Advertisement

“ขอยืนยันว่าสถานภาพทางด้านการเงินของไทยนั้นยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการกู้ยืมเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่สัดส่วนของหนี้สาธารณะะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) นั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยอยู่ที่ 56.1% และกระทรวงการคลังยังดำเนินนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ และการมีวินัยการคลังอันเข้มงวด คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะปีนี้ จะอยู่ต่ำกว่า 60%” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่ไทยได้วางไว้เพื่อเป็นรากฐานแห่งการเติบโตในระยะยาวของประเทศ ได้แก่ 1.แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมโดยการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสโดยถ้วนหน้า 2.ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จากที่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ถนน, ทางรถไฟ, การบิน และพลังงาน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เป็นต้น 3. การลดภาวะเรือนกระจกและหาวิธีแก้ไขปัญหาภาวะภูมิอากาศแปรปรวน โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และให้อยู่ระดับ 0 ภายในปี 2608(2065) เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย จึงกำหนดแผนงาน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, พลังงานทางเลือก, เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ,ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรม รวมทั้งการปลูกป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นต้น

Advertisement

4.สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่การพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการการผลิต, การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ 5. ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประเทศไทยควรจะปรับโครงสร้างและสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย 13 ชนิด รวมทั้งยังมีเป้าหมายที่จะศูนย์กลางข้อมูลและดิจิทัล, อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความฉลาด, และเทคโนโลยีชีวภาพ และ 6.สร้างความเข้มแข็งและความสามารถการแข็งขันสำหรับธุรกิจรายย่อย ภาคธุรกิจรายย่อยนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเรา เพราะคิดเป็น 42% ของมูลค่าจีดีพีทั้งหมด รัฐบาลกำลังเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ เปิดโอกาสให้เข้าถึงเม็ดเงินลงทุนได้ และสร้างโอกาสที่เข้าร่วมในการจัดซื้อของภาครัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image