“สุริยะ” ดึงทุนจีนลงทุน 5G-รถอีวี-สุขภาพ ในอีอีซี

“สุริยะ”ประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง นัดแรก ดันอีอีซี เชื่อมเขตเศรษฐกิจเกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย ของจีนให้เกิดเป็นรูปธรรม ย้ำเดินหน้าความร่วมมือ 5 สาขาหลัก อุตสาหกรรมอีวี ดิจิทัล5จี สุขภาพ สมาร์ท ซิตี้ และเศรษฐกิจสีเขียว เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ครั้งที่ 1 ร่วมกับนายหม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย (จีบีเอ) ของจีน ประกอบด้วยมณฑล กวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับจีบีเอ ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การเกษตร วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ การแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างท้องถิ่น ตลอดจนความร่วมมือด้านอื่น อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน

“ได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ  และการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และ 5จี”นายสุริยะกล่าว

<span;>นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก(อีอีซี) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับจีบีเอ ในด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม 5 สาขาหลักที่กวางตุ้งมีศักยภาพ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะอีวี  2.ดิจิทัลและ5จี  3.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4.สมาร์ท ซิตี้ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ กรีน แอนด์ เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี

Advertisement

โดยอีอีซีและจีบีเอ สามารถเชื่อมโยงผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านทาง สปป.ลาว และไทยมายังปลายทางอีอีซีจากแผนการพัฒนาท่าเรือบก และเชื่อมโยงกับท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ อาทิ ฉงชิ่ง และคุนหมิง การเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันในอนาคต ผ่านแลนด์บริจด์ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป และการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภา ที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร   โดยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของอีอีซี ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาเชีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image