คิดเห็นแชร์ : บันเทิงกับการลงทุนธีม Consumer Evolution

คิดเห็นแชร์ : บันเทิงกับการลงทุนธีม Consumer Evolution

เดือนก่อน ผมได้แนะนำให้รู้จักกับธีมการลงทุนแห่งอนาคตรวมกัน 6 ธีม

มีนักลงทุนหลายท่านให้ความสนใจ ถามถึงรายละเอียด และขอข้อมูลเพิ่มเติมกันมาไม่ขาดสาย

วันนี้ผมจึงขอคุยต่อบนธีมใหญ่ธีมแรก ที่ผมตั้งชื่อว่า “วิวัฒนาการการบริโภค” หรือ Consumer Evolution โดยมองตั้งแต่จุดเปลี่ยน องค์ประกอบ ตัวอย่างบริษัท ไปจนถึงโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุนใน ETF ทั้งภายในธีม และเปรียบเทียบกับธีมอื่นๆ

สำหรับผม Consumer Evolution เป็นธีมที่นักลงทุนเข้าถึงง่ายที่สุด

Advertisement

ธีมนี้จะตั้งต้นจาก “ผู้บริโภค” โดยเลือกลงทุนบริษัทที่ผลิตสินค้าหรือบริการแบบใหม่ที่สามารถแทนการบริโภคแบบเก่าได้ทันที แม้โมเดลธุรกิจมีความหลากหลายซับซ้อน แต่เมื่อนักลงทุนเป็นผู้ใช้ ก็มักมองเห็นการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน ด้านสังคมจึงถือว่าสร้างอิมแพคได้ง่าย

ด้านโอกาสการเติบโต ธีมนี้มีข้อมูลสนับสนุนหลากหลาย

เช่น รายงานจาก Statista ที่ระบุว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเข้าถึงผู้ใช้ได้กว่า 80% ในฝั่งตะวันตก แต่ยังมีช่องว่างฝั่งเอเชียที่มีฐานผู้ใช้เพียงราว 40-60%

Advertisement

หรือการสำรวจความมีส่วนร่วม E-Sport จาก YouGov ที่ระบุว่าผู้เล่นกว่าครึ่งในจีนเข้าใจโครงสร้างรายได้อุตสาหกรรมนี้แล้ว ขณะที่เพียงไม่ถึง 10% ของผู้ใช้ในยุโรปและอเมริกาที่มีความรู้สึกร่วม

หรือตัวอย่างการเติบโตที่รวดเร็วของบริการ streaming น้องใหม่อย่าง Disney+ ที่เปิดตัวเพียงสองปีก็สามารถสร้างฐานผู้สมัครได้เกินกว่าร้อยล้านรายทั่วโลก

ด้านกฎเกณฑ์ แม้ภาครัฐจะไม่ได้สนับสนุนทุกธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้ขัดขวาง

เมื่อนับทั้งสามแรงส่ง ธีม Consumer Evolution จึงมีโอกาสได้ไปต่อในระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับนักลงทุน ธีมย่อยแรกที่ต้องรู้จักคือ “กีฬา” จากกิจกรรมสันทนาการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาประกอบเช่น Game และ E-Sport

ธีม E-Sport มีบริษัทที่เป็น Pure-Play ที่เรารู้จักกันดีมากมาย เช่นบริษัทผลิตเกมอย่าง Nintendo หรือ Electronic Arts ไปถึงบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีผู้นำด้านการดีไซน์ Graphics Processing Units อย่าง Nvidia

ธีมย่อยที่สอง คือ “ความบันเทิง” จากช่องทางใหม่

ในปัจจุบันคาบเกี่ยวในเทคโนโลยี Streaming และ AI แน่นอนว่าจะมีบริษัทที่โดดเด่นในธุรกิจบันเทิงฝั่งสหรัฐเป็นบริษัทสายตรง ไม่ว่าจะเป็น Netflix หรือ Walt Disney ไปถึงบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลายอย่าง Amazon

สามคือธีม “จับจ่าย” จากระบบนิเวศ e-commerce ที่เติบโตขึ้นทั้งในฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ

ความแตกต่างที่ชัดเจน คือมีความเป็น Local Contents บริษัทที่โดดเด่นมักมีความเฉพาะตัว เช่น Mercado Libre ตลาดขายของและประมูลออนไลน์ในอาร์เจนตินา Wayfair ธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ในสหรัฐ หรือตลาด e-commerce ของสินค้าทำมืออย่าง Etsy

ธีมย่อยสุดท้าย คือวิวัฒนาการของ “การท่องเที่ยว” ที่ปัจจุบันทะยานถึงนอกโลก

ธุรกิจ Pure-Play มีตั้งแต่บริษัทในอุตสาหกรรมการเดินทางชื่อคุ้นหูอย่าง Airbnb หรือ booking.com ไปถึง Virgin Galactic ที่เพิ่งสร้างความฮือฮาด้วยธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ ขณะเดียวกัน ธีมนี้จะมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับบริการด้านดาวเทียม เช่นบริษัทสัญชาติสหรัฐชื่อ Iridium Communications หรือบริษัทที่มีความโดดเด่นในการให้คำแนะนำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GPS ในธุรกิจอย่าง Trimble รวมอยู่ด้วย

เมื่อบริษัทส่วนใหญ่มีนักลงทุนรู้จักอยู่แล้ว จึงหา ETF ที่ลงทุนที่รวมบริษัทเหล่านี้ไว้เป็นธีมไม่ยาก

สำหรับธีมวิวัฒนาการการบริโภคนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มักไม่ได้เริ่มต้นจากการมองธีม แต่จะมองหาหุ้นรายตัวก่อนที่จะถอยกลับมาหา ETF ที่ลงทุนในธุรกิจนั้นและมีกลยุทธ์ในการเลือกบริษัทใกล้เคียงกันเข้ามาเป็นส่วนเสริม

ตัวอย่างข้อมูลใน Bloomberg ล่าสุด มี Global-Focus Thematic ETF ทั่วโลก 182 กอง

ถ้าผมชอบ Walt Disney จะมีถึง 7 ETF ที่ลงทุนอยู่ เช่น SUBZ (Roundhill Streaming Services & Technology) หรือ VPOP (Simplify Volt Pop Culture Disruption) ที่ถือ DIS อยู่ 4-5%

หรือถ้าผมชอบ Sea เจ้าของ Garena ก็มีถึง 16 ETF ที่ลงทุนอยู่ บาง ETF ลงทุนถึง 7-8% เช่น HERO (Global X Video Games & Esports) และ ESPO (VanEck Vectors Video Gaming and eSports)

ในทางกลับกัน นักลงทุนต้องระวังว่า Consumer Evolution เป็นธีมที่มีความหลากหลายสูงเหมือนแฟชั่น

แม้จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใช้เหมือนกันแต่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อย อาจทำให้การลงทุนของเราไม่เคลื่อนไหวไปพร้อมกับธีมโดยรวมได้

ท้ายที่สุด ถ้าเทียบกับ Thematic Investing อื่น Consumer Evolution มีจุดเด่นที่การรวมกลุ่มธุรกิจสาย Disrupter สร้างกำไรเร็วไว้ด้วยกัน แต่ธุรกิจ เมื่อมาเร็ว ก็อาจไปเร็ว

ผมรวบรวม 10 ETF ปัจจุบันที่โดดเด่นในแต่ละธีมย่อย หาค่าเฉลี่ยของ Financial Ratio พื้นฐานต่างๆ พบว่าเป็นธีมที่มี fundamental ใช้ได้ ปัจจุบันมี PE เฉลี่ยราว 30x และ PCF เฉลี่ย 17x ถือว่าถูกกว่า Long-term Hyper-growth Thematic อื่นแต่มีความผันผวนสูงใกล้เคียงกับธีมทั่วไปราว 20-30% ต่อปี

Style โดยรวมถือเป็น Small-cap momentum ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่กลับมีพฤติกรรมราคาที่เปลี่ยนจังหวะไปมาบ่อยครั้งกว่าธีมระยะยาวทั่วไป เนื่องจากประกอบไปด้วยหุ้นขนาดเล็กซึ่งมีกำไรยิบย่อยจากหลายช่องทาง

โดยสรุป ผมมองว่าธีมวิวัฒนาการการบริโภคหรือ Consumer Evolution สามารถเข้ามาเป็น 5-15% ของพอร์ตเราได้และเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ชอบตามเทรนด์ รับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากเป็นธีมระยะยาวที่มักขึ้นหรือลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

ดังนั้น ใครที่ชอบจับจังหวะตลาดหรืออยากสนุกกับการติดตามเทคโนโลยี นี่คือธีมการลงทุนที่ต้องมีติดพอร์ตไว้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image