สสว.อุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอี 137 ราย ฝ่าวิกฤตโควิด อัด 10 ล้าน บ.เสริมเขี้ยวเล็บโมเดลบีดีเอส

สสว. โชว์ความสำเร็จช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSME 137 ราย พัฒนาธุรกิจ เพิ่มโอกาสทางการตลาดสามารถขายสินค้าได้ในสถานการณ์วิกฤต ดึงโมเดลการให้บริการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) โดยอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน (Co-Payment) ให้ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ ตามต้องการ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท คาดว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้กว่า 65 ล้านบาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้นำแนวคิดการให้บริการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในต่างประเทศ มาปรับใช้กับประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานส่งเสริม MSME เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาที่ผ่านมาที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของ   ผู้ประกอบการ ดังนั้น BDS จึงเป็นกลไกการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางธุรกิจภาคเอกชน สามารถมีบทบาทในการยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ MSME ให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการที่จะใช้บริการเนื่องจากได้รับการการันตีจากหน่วยงานกลางแล้ว โดยโครงการดังกล่าวยังสามารถตอบโจทย์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตเช่นนี้ด้วย

“สำหรับโครงการนำร่องที่ดำเนินการร่วมกับ ส.อ.ท. ในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรับบริการต่อผู้ประกอบการ MSME รายละ 100,000 บาท จ่ายจริงตามสัดส่วนการสนับสนุนที่ผู้ประกอบการเลือกรับบริการ วิสาหกิจรายย่อย (Micro) สนับสนุน 90% วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) สนับสนุน 70% และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) สนับสนุน 50%” นายวีระพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ ได้คัดเลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสมกว่า 114 บริการ ให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ ครอบคลุมด้านการเพิ่ม Productivity มาตรฐาน การบริหารจัดการ บัญชีภาษี และการตลาด ทั้งในรูปแบบของแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ สื่อประชาสัมพันธ์ การวิจัยตลาด และการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด โดยได้ผู้ให้บริการที่มีคุณภาพรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน อาทิ สถาบันอาหาร, สมาคมบัญชีคุณภาพ, บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บริษัท นิภาเทคโนโลยี จำกัด, บริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด, บริษัท ทีค รีเสิร์ช จำกัด, บริษัท พี ยู ยู เอ็น อินเทลลิเจนท์ จํากัด, บริษัท สปริง บีนส์ จำกัด, บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการได้แล้วกว่า 137 ราย สนับสนุนงบประมาณดำเนินงานไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 65 ล้านบาท โดยบริการที่ผู้ประกอบการนิยมและต้องการในลำดับต้นๆ ได้แก่ ช่องทางการขาย เครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ และการตรวจมาตรฐานต่างๆ

Advertisement

โดย ความร่วมมือของ สสว.กับ ส.อ.ท.ในครั้งนี้ ถือว่ามีผลการตอบรับจากผู้ประกอบการรวมถึงผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ และในปี 2565 สสว.ยังจะเดินหน้าใช้แนวคิด BDS ในการสนับสนุนผู้ประกอบการต่อไป แต่อาจจะต้องปรับแก้ไขบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ของ สสว.ได้ที่ www.sme.go.th หรือแอปลิเคชัน SMECONNEXT หรือ สสว.คอลเซ็นเตอร์ โทร 1301

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image