‘สุริยะ’มั่นใจภาคผลิตฟื้นหลังเอ็มพีไอขยายตัว5เดือนติด ลุ้นคลายล็อก-วัคซีน-ส่งออกหนุนอีก

“สุริยะ”ปลื้มภาคการผลิตฟื้นตัว เอ็มพีไอก.ค.เพิ่ม5.2%ขยายตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 5 สศอ.ขอ2เดือน ปรับเป้าเอ็มพีไอ-จีดีพีอุตฯ หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ วัคซีนทั่วหล้า ส่งออกสดใส

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้รายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) เดือนกรกฏาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 91.41 ขยายตัวเพิ่มขึ้น5.12 % เป็นอัตราการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้ภาคการผลิตของไทยได้รับอานิสงค์ สะท้อนจากการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เช่นกัน มูลค่าส่งออกกว่า 7 แสนล้านบาท สำหรับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) กระทรวงฯมุ่งเน้นการควบคุมการระบาดในสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามมาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล และได้จัดทำโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟคทอรีแซนด์บ็อกซ์ ภายในสถานประกอบการ มุ่งดูแลอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อไปได้

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวว่า เอ็มพีไอเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 91.41 เพิ่มขึ้น 5.12 % ส่งผลให้ 7 เดือนแรกปีนี้(มกราคม-กรกฎาคม2564) เอ็มพีไออยู่ที่ 99.03 เพิ่มขึ้น 8.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งขยายตัว 90.92 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.12% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ระดับ 57.25% ช่วง 7 เดือนอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 64.09% อุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้เอ็มพีไอขยายตัว อาทิ รถยนต์และเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยาง

Advertisement

นายทองชัย กล่าวว่า สศอ.ยังคงเป้าหมายเอ็มพีไอปีนี้อยู่ที่ 4-5% และผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3-4% แม้ล่าสุดรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.มีมติผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตให้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่จะขอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง เพราะประเด็นการส่งออกยังประสบปัญหาค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์(ชิป) ดังนั้นอีก 2 เดือนข้างหน้า คือ เดือนพฤศจิกายน จะพิจารณาตัวเลขเป้าหมายอีกครั้ง

“สศอ.เพิ่งปรับเป้าหมายเอ็มพีไอและจีดีพีอุตสาหกรรมไป ดังนั้นจะขอเวลาติดตามดูสถานการณ์อีกครั้ง แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าเดือนกันยายน ซึ่งรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และแนวโน้มการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นและเชื่อว่าสิ้นปีจะไปสู่ระดับ 100 ล้านโดส น่าจะส่งผลดีต่อการผลิตภาพรวม ส่งผลดีต่อเอ็มพีไอและจีดีพีอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน”นายทองชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image