แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจเดือน ก.ค. หดตัวลง จากมาตรการล็อกดาวน์ เฝ้าระวังการขาดแคลนปัจจัยการผลิต

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ /แฟ้มภาพ

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจเดือน ก.ค. หดตัวลง จากมาตรการล็อกดาวน์ เฝ้าระวังการขาดแคลนปัจจัยการผลิต

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ในเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน

มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเป็นผลจาก อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศที่รุนแรงขึ้น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางหมวดมีการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลง

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน จากทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างที่แผ่วลงตามภาวะอุปสงค์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานยังกดดันการผลิตในหลายหมวด

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อย่างไรก็ดีจำนวนนักท่องเที่ยวยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน

Advertisement

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดภายในประเทศที่ยืดเยื้อ

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า การผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด มาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเยียวยา ประชาชนที่ได้รับเยียวยาตรงนี้จะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเห็นภาพชัดขึ้นในเดือนกันยายน ส่วนการประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีโตอยู่ที่ 0.7% ได้มีการพิจารณาความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่เยอะ เช่น ประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบจากการระบาด และการแพร่ระบาดรอบใหม่ในประเทศ ซึ่งจะมีการประมวลผลใหม่ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image