‘สดช.’ แย้ม โควิดทำอีคอมเมิร์ซผงาด แนะ บุกตลาดตปท.-พัฒนาทักษะแรงงาน รับดิจิทัลขยายตัว

‘สดช.’ แย้ม โควิดทำอีคอมเมิร์ซผงาด แนะ บุกตลาดตปท.-พัฒนาทักษะแรงงาน รับดิจิทัลขยายตัว

‘โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook’ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระยะที่ 1 เมื่อปี 2561 ดําเนินการจัดเก็บข้อมูลสํารวจ และวิเคราะห์ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวทาง Measuring the Digital Transformation และ Digital Economy Outlook ของ OECD เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถนําผลการศึกษามาประเมินและใช้ประกอบการพิจารณา การกําหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยในการกําหนดแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชน มีความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยถึง โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ว่า โครงการศึกษาวิจัย Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย ให้มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ รวมถึงแนวทางและมาตรการในการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถสร้างให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการจ้างงานที่มีคุณค่าสูง รองรับการพัฒนา ประเทศในยุคเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยี ดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน

นางวรรณพร กล่าวว่า การสํารวจครั้งนี้เป็นการขยายผลจากระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยทำการสํารวจใน 77 จังหวัด เพิ่มตัวชี้วัดมากถึง 57 ตัวชี้วัด เพิ่มจํานวนกลุ่มตัวอย่างเป็น 39,145 ตัวอย่าง ครอบคลุม ภาคบริษัทเอกชน 3,381 ตัวอย่างเพิ่มกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นหน่วยงานบริการปฐมภูมิภาครัฐ เช่น โรงเรียน รพ.สต. อีก 935 แห่ง สดช.พยายามทำให้ครอบคลุมหน่วยงานเป้าหมายตามยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามแผนแม่บทหลักในการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

Advertisement

ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ใน 8 มิติหลัก ได้แก่ 1.ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ดิจิทัล 2.ด้านการใช้งาน 3.ด้านนวัตกรรม 4.ด้านอาชีพและแรงงานดิจิทัล 5.ด้านความเชื่อมั่น และความปลอดภัยดิจิทัล 6.ด้านการค้าและอุตสาหกรรมดิจิทัล 7.ด้านผลจากดิจิทัลด้านสังคม และ 8.การเติบโตและคุณภาพชีวิต และนำไปสร้างตัวชี้วัดในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย และนําไป พัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นกรอบการประเมินด้านการ พัฒนาดิจิทัลฯ ที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทยด้วย

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)

สำหรับผลสำรวจที่สำคัญในครั้งนี้พบว่า ประชาชนยอมรับและเชื่อถือการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยมีการซื้อสินค้าบริการออนไลน์ เติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 37.7% เป็น 76.6% ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการชําระเงินออนไลน์ผ่านโมบายแบงก์กิ้งสูงที่สุดในโลก โดยผู้ประกอบการเอกชนมีการใช้งานเทคโนโลยี ยุคใหม่ ทั้งคลาวด์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล (ดาต้า อนาไลติกส์) ในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการใช้คลาวด์ อยู่ที่ 70.3% และดาต้า อนาไลติกส์ อยู่ที่ 61.5% ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อยู่ที่ 41% ทั้งนี้ ใช้แชทบอทเป็นส่วนใหญ่

“ประเทศไทยยังต้องเร่งการพัฒนาและสร้างทักษะ แรงงานด้านดิจิทัล ซึ่งมีปริมาณไม่พอกับความต้องการด้านดิจิทัลที่ขยายตัวเร็ว รวมทั้งการเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซไปสู่ต่างประเทศ เพราะขณะที่ ส่วนใหญ่ซื้อ-ขายเพียงในประเทศเท่านั้น” นางวรรณพร กล่าว

Advertisement

ขณะเดียวกัน จากผลสํารวจพบว่า ประชากรทั้งประเทศ มีพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยจํานวน 6-10 ชั่วโมงต่อวัน โดยกิจกรรมที่ใช้มีทั้ง ใช้ในการทํางาน ความบันเทิง รวมถึงการซื้อขายออนไลน์ ทั้งนี้ ในการทำงาน ใช้สำหรับ อาทิ ประชุมออนไลน์ หรือเวิร์กฟรอมโฮม คิดเป็น 75.2% ใช้สําหรับเรียนออนไลน์ คิดเป็น 71.1% ขณะที่ การซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็น 67.4% เพื่อการติดต่อสื่อสารสนทนา 65.1% และเพื่อทําธุรกรรมด้านการเงินออนไลน์ 54.7%

นอกจากนี้ จากการสํารวจยังพบว่า ธุรกิจที่มีการใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ธุรกิจการเกษตร เพิ่มขึ้น 54.6% อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 27.4% ขนส่งและโลจสิติกส์ เพิ่มขึ้น 27.9%

ขณะที่ ธุรกิจที่มีการใช้ช่องทางออนไลน์ลดลง กว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด ได้แก่ การท่องเที่ยวและสันทนาการ ลดลง 76.4% แฟชั่น ลดลง 44.8% วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ลดลง 36.8%

สำหรับธุรกิจที่มีการเวิร์กฟรอมโฮมมากขึ้น ประกอบด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพิ่มขึ้น 48% อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 42% เงินทุนและหลักทรัพย์ 32.3%

นางวรรณพร กล่าวว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2564 จะจัดให้มีการลงนามเอ็มโอยู เรื่อง การบูรณาการด้านการแลกเปลี่ยนและ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการศึกษา Thailand Digital Outlook ของประเทศไทย” ระหว่างหน่วยงาน ทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สดช., สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) หรือดีป้า, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือดีจีเอ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีการบริหารจัดการ บูรณาการข้อมูลภาครัฐที่มีความสอดคล้อง และเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน รวมถึงยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล ที่มีระบบการทํางาน และข้อมูลเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยนําผลการศึกษา Thailand Digital Outlook ของประเทศไทย รวมถึงข้อมูลและชุดข้อมูลในการศึกษานี้ ไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์ องค์กรของแต่ละหน่วยงานด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image