คิดเห็นแชร์ : ‘สู้สังเวียน โควิด 2.0 แบบพร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด’

สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ อีกไม่นานเราจะก้าวเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีกันแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงถูกจับตามองในช่วงนี้คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีน และจำนวนวันที่เหลือไม่ถึง 50 วัน จากเป้าหมาย 120 วันของการนับถอยหลังเปิดประเทศ ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในอนาคตอันใกล้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ กลับมา แม้ยังคงกังวลกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นกระแสตีกลับที่ยากจะรับมือได้

อย่างไรก็ดี ในเวลาอีกประมาณ 50 วัน หรือราว 7 สัปดาห์ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการดำเนินธุรกิจแบบ Next Normal ที่ผู้ประกอบการจะต้องพร้อมสู้ในสังเวียนโควิด 2.0 ที่ท้าทายกว่าเดิม ต้องเรียนรู้และอยู่ได้ในช่วงที่เชื้อโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ระหว่างการควบคุม รวมทั้งต้องพยายามปรับให้ธุรกิจไปรอดและฟื้นคืนในเร็ววัน ผมจึงอยากแชร์กับทุกๆ ท่าน ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด ให้ลองพิจารณาถึง 5 แนวทางสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด กันครับ

1.การจัดการโควิด-19 ในองค์กร ณ ตอนนี้ แผนธุรกิจที่ดีที่สุดอาจเป็นการรักษาธุรกิจให้ปลอดเชื้อให้กิจกรรมต่างๆ ยังดำเนินต่อไปได้ เพราะหากพบการติดเชื้อแล้วทุกอย่างจะต้องหยุดลง เปรียบเสมือนการโดนใบแดงและต้องออกจากการแข่งขันไปโดยปริยาย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ ด้วยการกำหนดแนวทางป้องกัน จำกัด และจัดการ (Prevent, Contain, and Manage) เชื้อโรคโควิด-19 ที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่เข้ามาในสถานประกอบการ ทั้งจากพนักงาน สินค้า หรือผู้มาติดต่อ และหากพบการแพร่ระบาดของเชื้อ ต้องรีบจำกัดการแพร่เชื้อให้อยู่ในวงแคบทันที เช่น ทำการคัดกรองเชิงรุกและกักกันโรคแบบ Factory Quarantine หรือ Bubble and Seal เพื่อบริหารจัดการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดทั้งในสถานประกอบการและชุมชนเพิ่มขึ้นอีก

2.การตลาด 2.0 ที่มาพร้อมกับโควิด 2.0 ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพึ่งพาตลาดในประเทศ ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ส่วนใหญ่ของไทยมาจากเม็ดเงินต่างประเทศเป็นหลัก เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออก เมื่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศหยุดชะงัก แต่สินค้าต่างๆ ยังผลิตออกมาตามกลไกปกติ ตลาดในประเทศ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ผ่านมาตรการ THAI SME-GP และ Made in Thailand (MiT) จึงกลายเป็นแหล่งรองรับสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ การค้าแบบ E-commerce ในช่วงเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กิจกรรมการซื้อขายแทบทั้งหมดจึงย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรสร้างความได้เปรียบ ที่มากกว่าการแข่งขันด้านราคา เช่น การปรับลุคของหน้าร้านออนไลน์ (Virtual Storefront) ให้ดึงดูดและน่าสนใจ การประยุกต์ใช้สื่อโซเชียลต่างๆ

Advertisement

เพื่อส่งเสริมการขาย (Social Commerce) และสื่อสารกับลูกค้าแบบ Real-time เสมือนซื้อขายในร้านค้าจริง และอาจลองปรับใช้บริการคลังสินค้าออนไลน์ (Fulfillment Center) ที่ช่วยเก็บ-แพค-ส่งแบบรวดเดียวจบ รวมถึงเปิดใจให้ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับคนไทย

3.เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นทุน หนึ่งในปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอ คือ ปัญหาด้านเงินทุนและธุรกิจขาดสภาพคล่อง โดยอาจลืมไปว่าวัตถุดิบและสินค้าคงคลังก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินทุนได้ด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อและขนส่งวัตถุดิบ การตรวจสอบและเก็บรักษา ตลอดจนการหมุนเวียนสินค้าคงคลัง จะช่วยระบายค่าใช้จ่ายที่จมอยู่กับวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ให้กลายมาเป็นทุนในการทำธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ หนึ่งในจุดอ่อนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอ็สเอมอี คือ ไม่มีบัญชี ไม่ต้องสมบูรณ์ตามหลักการบัญชี แต่ให้เน้นบันทึกรายรับรายจ่ายของกิจการได้ เพื่อให้ทราบถึงสภาวะทางการเงินของธุรกิจ เมื่อข้อมูลดี มีความน่าเชื่อถือ การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็จะง่ายขึ้น

4.สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ปัจจุบัน เรามักพบเห็นการร่วมงานกันระหว่างธุรกิจ (Collaboration) เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ผลที่ได้คือความสร้างสรรค์และแปลกใหม่ เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมโกยคะแนนนิยมจากผู้บริโภคที่พยายามหลีกหนีความจำเจ ดังนั้น การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบการ จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเครื่องจักรในการผลิต เกิดนวัตกรรม

Advertisement

ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจัดจำหน่าย

5.ปรับโมเดลธุรกิจ Business Model เป็นเหมือนพิมพ์เขียวในการทำธุรกิจของทุกองค์กร แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกและพลิกโฉมภูมิทัศน์ทางธุรกิจ การประกอบธุรกิจแบบเดิม (Business as Usual) จึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ดังนั้น เพื่อให้อยู่รอด ผู้ประกอบการต้องกล้าปรับโมเดลธุรกิจ เปลี่ยนกลยุทธ์ เพิ่มจุดแข็ง ลดจุดอ่อนให้ตอบโจทย์บุคลากรภายใน ลูกค้า และเสริมเกราะให้ธุรกิจด้วยการทำแผนบริหารความต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) เพื่อให้กิจการไม่สะดุดแม้ในยามวิกฤต

ในที่ช่วงผ่านมา เราได้พยายามรับมือและรอให้โรคโควิด-19 หมดไป แต่แล้วเจ้าเชื้อโรคนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์จนเล็ดลอดจากวัคซีนนานาชนิดมาได้ ดังนั้น พวกเราเองจึงต้องพยายามเข้าใจ เปิดใจ และปรับตัวเช่นกัน เพื่อพิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้เชื้อโรคหยุดแพร่ระบาด แต่ก็ยังสามารถป้องกันตนเองและประคองธุรกิจให้อยู่ได้ ไปรอด และอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ในที่สุดครับ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image