กทม.ลุย “รถไฟฟ้าบางนา-สุวรรณภูมิ” เชื่อมบีทีเอส-สายสีเหลือง เปิดหวูดปี’72

กทม.ลุย “รถไฟฟ้าบางนา-สุวรรณภูมิ” เชื่อมบีทีเอส-สายสีเหลือง เปิดหวูดปี’72

หลังจากทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2556 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ล่าสุดสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร(กทม.) หยิบโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาหรือไลต์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ที่ผลักดันมาหลายปี มาทบทวนอีกครั้ง

๐ทบทวนผลศึกษาใหม่ให้ครบถ้วน

ครั้งนี้นอกจากต้องทบทวนผลการศึกษา ยังศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562(PPP) ให้ครบถ้วน และสอดรับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

ขณะเดียวกันรอลุ้นให้ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ล่าสุดอยู่ในขั้นของการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)

Advertisement

๐ดึงเอกชนลงทุน 30 ปี วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน

โดยกทม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบPPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถ มูลค่าโครงการประมาณ 27,892 ล้านบาท

Advertisement

ตามไทม์ไลน์ใหม่”กทม.”จะรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding ) ประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 และสรุปผลโครงการประมาณเดือนมกราคม 2565 เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการในปี2566 จากนั้นเปิดประมูล คาดได้เอกชนผู้ลงทุนในปี 2568 จะใช้เวลาสร้างและทดสอบ 4 ปี พร้อมเปิดให้บริการในปี 2572

๐สร้างยกระดับเกาะถนนบางนา-ตราด

รูปแบบโครงการก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับบนแนวถนนบางนา-ตราด ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.)ได้อนุมัติให้เข้าใช้พื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณสี่แยกบางนา มุ่งไปทางทิศตะวันออก ทางคู่ขนานถนนบางนา-ตราด ผ่านทางแยกต่างระดับศรี่เอี่ยม เข้าสู่เขตจังหวัดสมุทรปราการ ทางแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก ถึงทางแยกต่างระดับกิ่งแก้ว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุวรรณภูมิ3 และสิ้นสุดเส้นทางที่สนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ รวมระยะทาง 19.7 กิโลเมตร

มีทั้งหมด 14 สถานี แบ่งก่อสร้าง 2 ระยะ ในระยะแรกสร้างจาก “แยกบางนา-ธนาซิตี้” ระยะ 14.6 กิโลเมตร มีจำนวน 12 สถานีและระยะที่ 2 จาก “ธนาซิตี้-สุวรรณภูมิด้านใต้” ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร มีจำนวน 2 สถานี ตลอดเส้นทางมีจุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีบางนากับสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรงที่สถานีวัดศรีเอี่ยม

๐เปิดโผที่ตั้ง 14 สถานี

สำหรับจุดที่ตั้งสถานี ประกอบด้วย 1.สถานีบางนา อยู่ใกล้สี่แยกบางนามีสกายวอล์กเดินเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสฝั่งอาคารไบเทค ระยะทางประมาณ 550 เมตร

2.สถานีประภามนตรี” อยู่ใกล้โรงเรียนนานาชาติเบิร์คลีย์และเยื้องกับโรงเรียนประภามนตรี 3.สถานีบางนา-ตราด 17 อยู่ปากซอยบางนา-ตราด 17 และยังเป็นซอยที่เชื่อมไปยังอุดมสุข 42

4.สถานีบางนา-ตราด 25 ใกล้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีและเซ็นทรัลบางนา 5.สถานีวัดศรีเอี่ยม จะสร้างคร่อมทางแยกต่างระดับวัดศรีเอี่ยม และรองรับกับสายสีเหลือง

6.สถานีเปรมฤทัย อยู่ตรงข้ามกับอาคารเนชั่น 7.สถานีบางนา-กม.6 อยู่บริเวณกม.6 8.สถานีบางแก้ว อยู่ใกล้ทางเข้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง2

9.สถานีกาญจนาภิเษก อยู่ตรงข้ามกับเมกะบางนา
10.สถานีวัดสลุด อยู่เยื้องกับซอยวัดสลุดกับห้างบุญถาวร 11.สถานีกิ่งแก้ว อยู่หน้าตลาดกิ่งแก้ว

12.สถานีธนาซิตี้ อยู่หน้าหมู่บ้านธนาซิตี้ จะอยู่ใกล้กับอาคารโรงจอดและซ่อมบำรุง(เดโป้) ที่จะขอใช้พื้นที่ว่าง 29 ไร่ด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ก่อสร้าง

สำหรับ 2 สถานีที่จะสร้างในระยะที่ 2 มี “สถานีมหาวิทยาลัยเกริก” และ “สถานีสุวรรณภูมิใต้” อยู่ภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิส่วนด้านใต้

โดยรถไฟฟ้าสายนี้ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา มีขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ มีความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาเดินทางไป–กลับ 56 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 15,000-30,000 คนต่อชั่วโมง

ส่วนค่าโดยสารตามผลศึกษาเดิม เริ่มต้น 12 บาทและเก็บเพิ่มกิโลเมตรละ 2 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image