ซาวเสียง‘พร้อม-ไม่พร้อม’เคาต์ดาวน์ประเทศ เอกชน-นักวิชาการ รัวๆ ส่งสัญญาณ‘มีเสียว’

ซาวเสียง‘พร้อม-ไม่พร้อม’เคาต์ดาวน์ประเทศ เอกชน-นักวิชาการ รัวๆ ส่งสัญญาณ‘มีเสียว’

ประเทศไทยทดลองนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดสีแดงเข้ม 29 จังหวัด อนุญาตให้นั่งทานอาหารที่ร้าน ให้เปิดห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการซ้อม (เล็ก) เปิดประเทศระยะเริ่มต้น ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ถือว่าสูงระดับ 15,000-17,000 คนต่อวัน

อีกไม่ถึงเดือนจะครบกรอบเวลาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะเห็นการเปิดประเทศเปิดรับต่างชาติใน 120 วัน ก็เข้าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้พอดี แม่งานอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้วางแนวทางไว้ 5 ระยะของการเปิด โดยระยะถัดไปคือการเปิดเพิ่ม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ขีดเส้นใต้วันที่ 1 ตุลาคม 2564

⦁เอกชนพร้อมถามรัฐพร้อมยัง

ภาคเอกชนสะท้อนเสียงความพร้อมและความเหมาะสมในห้วงเวลาที่วางไว้ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารถือว่ามีความพร้อมสูงมาก เพราะคนร้านอาหารมีทั้งเพิ่มมาตรการป้องกัน และเงื่อนไขปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึงการป้องกันตัวเองแบบนิว นอร์มอลเต็มที่ แต่ปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามีความพร้อมเปิดประเทศจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากยังเห็นระบบการทำงานของภาครัฐที่ตอนนี้ยังไม่สามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกันได้สะดวกและเร็วเท่าที่ควร โดยความพร้อมเดียวที่ยังติดขัดคือการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานธุรกิจร้านอาหารได้ครบ 100% หากไม่สามารถฉีดวัคซีนให้แรงงานครบ 100% ได้ก็ไม่สามารถยืนยันและสร้างความมั่นใจได้ว่าภาคบริการธุรกิจร้านอาหารไทยมีความปลอดภัยจากโควิดอย่างแท้จริง หากนักท่องเที่ยวมาติดโควิดกลับประเทศ เท่ากับว่าภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยต้องเสียหายหนักเข้าไปอีก

Advertisement

“ยังมีบางมาตรการที่ต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมกับการเปิดประเทศจริงหรือไม่ อาทิ นักท่องเที่ยวต่างชาติบางประเทศ ใช้ชีวิตคนละรูปแบบกับคนไทย อาทิ คนยุโรป หากไม่ได้ทำงาน จะชื่นชอบการใช้ชีวิตช่วงกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน เริ่มทานอาหารมื้อเช้าในช่วงตอนเย็น หากเป็นลักษณะนี้เท่ากับว่ามาตรการเคอร์ฟิวที่รัฐบาลยังใช้อยู่นั้นจะเป็นข้อจำกัดในการท่องเที่ยวของต่างชาติได้ โดยการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้ไม่ห่วงเรื่องการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวแน่นอน เพราะเน้นผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และก่อนเข้ามาก็มีการตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำตั้งแต่ในสนามบิน อ้างอิงจากเงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ขณะนี้ความเป็นห่วงสูงสุดอยู่ที่การระบาดโควิด และการส่งต่อเชื้อของคนไทยเองมากกว่า เพราะยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน” ฐนิวรรณกล่าว

⦁เห็นสัญญาณบวกที่ไม่ชัดเจน

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวขณะนี้แม้มีสัญญาณบวกจากแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เนื่องจากแนวทาง แผนการดำเนินงาน และเงื่อนไขยังไม่มีความชัดเจนมากเพียงพอนั้น ทำให้คาดการณ์ว่าสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าประเทศไทยตามที่ตั้งเป้าไว้คือ 1 ตุลาคม อาจไม่ได้คึกคักมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะการที่ยังมีข้อจำกัดหลายๆ ด้านอยู่ เพราะหลักการของการเดินทางท่องเที่ยวนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางด้วยว่าประเทศเหล่านั้นได้อนุญาตให้พลเมืองสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หรือยัง โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวหลักๆ ที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก ในช่วงที่ผ่านมานั้นเชื่อว่าตอนนี้คงยังไม่พร้อมเดินทางออกนอกประเทศ อาทิ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น มาเลเซีย ส่วนตลาดระยะไกลหรือนักท่องเที่ยวในโซนยุโรป อเมริกา สแกนดิเนเวีย เป็นกลุ่มพร้อมเดินทางแต่ปริมาณไม่มาก และกลุ่มดังกล่าวนิยมจุดหมายปลายทางในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย ไม่สามารถกระจายท่องเที่ยวได้เหมือนกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

Advertisement

“ตอนนี้ทุกประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเหมือนกันหมด ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แบบเต็มที่เหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด เมื่อปี 2562 ได้แน่นอน ส่วนความพร้อมของประเทศไทย เงื่อนไขหลักคืออัตราการฉีดวัคซีนของคนไทยยังมีสัดส่วนไม่ถึง 70% หรือยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้พื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ มีข้อจำกัดด้านการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากรัฐบาลเปิดประเทศตามแผนหรือกลางเดือนตุลาคมนี้ เบื้องต้นนี้คาดว่ากลุ่มที่จะเดินทางน่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจมากกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป” ศิษฎิวัชรกล่าว

⦁ให้คะแนนเปิดประเทศแค่ครึ่งเดียว

ฟากนักวิชาการอย่าง นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เมื่อประเมินความพร้อมและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว หากต้องให้คะแนนคงให้เพียง 50 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนนเท่านั้น โดยรัฐบาลมี 2 ตัวเลือก ได้แก่ 1.การใช้มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ยังไม่เร่งรัดในการเปิดประเทศ และ 2.การเปิดประเทศในทันที ภายใต้การวางมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดอย่างเข้มข้น โดยกุญแจสำคัญคือ ความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตอยู่ในหลัก 200-300 คน/วัน สะท้อนความสูงของความเสี่ยงที่มี หากประเมินตัวเลือกในรูปแบบการเปิดประเทศทันที พิจารณากรณีศึกษาจากต่างประเทศ กว่าที่จะกลับมาเปิดประเทศ ใช้เวลารอให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 60% อาทิ ชิลี อิสราเอล อังกฤษ สหรัฐ เพื่อให้สัดส่วนการฉีดวัคซีนให้พลเมืองมีมากเพียงพอ แต่ในไทยพบว่ามีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 2 เพียง 12% เท่านั้น หากประเมินเฉพาะ 5 จังหวัดที่จะเปิดเพิ่มในพื้นที่ที่กำหนดไว้มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็ม 2 ในสัดส่วนมากน้อยเท่าใด หากประชาชนในพื้นที่ยังได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยไม่ถึง 60% สะท้อนให้เห็นว่ายังเสี่ยงเกินกว่าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

“ประเมินตามเกณฑ์การฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองของต่างประเทศที่ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้พลเมืองไม่ต่ำกว่า 60% จึงเปิดประเทศให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น แต่เมื่อเปิดแล้วก็เห็นการกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง เพราะพบการระบาดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงมาก ทำให้แม้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ถึง 60% แล้วก็อาจเอาไม่อยู่ได้ โดยมีการเปิดเผยจากบุคลากรทางการแพทย์ว่า เกณฑ์การฉีดวัคซีนที่ 60% อาจไม่สามารถควบคุมการระบาดเชื้อเดลต้าได้ ต้องฉีดวัคซีนได้ถึง 100% เท่านั้น” นณริฏกล่าว

⦁ชี้รัฐเหลือเงินเยียวยา4.4แสนล้านบาท

นณริฏกล่าวเสริมอีกว่า ประเมินตัวเลือกรูปแบบการใช้มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการยังไม่เร่งรัดในการเปิดประเทศ พบว่า ภาครัฐยังมีงบประมาณอีกค่อนข้างมาก อาทิ เงินกู้ก้อน 5 แสนล้านบาท มีการใช้ออกไปเพียง 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ยังเหลืออีก 4.4 แสนล้านบาท ที่เพียงพอในการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ อาทิ หากตั้งงบประมาณเยียวยาไว้ที่ 1 แสนล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะสามารถเยียวยาได้อีก 4 เดือน โดยมองว่าการเปิดประเทศควรเปิดเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 เนื่องจากช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ เป็นช่วงที่มีวัคซีนเข้ามามากขึ้นและเพียงพอแล้ว หากรัฐบาลสามารถกระจายฉีดวัคซีนได้เร็ว อาทิ 1 ล้านโดสต่อวัน จะทำให้ต้นเดือนธันวาคมนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ไม่ต่ำกว่า 60% แน่นอน ซึ่งจะสามารถสร้างความปลอดภัยได้ สอดรับกับระหว่างทางภาครัฐจะต้องยัดเงินเยียวยาให้ประชาชนสามารถเอาตัวรอดได้ เพื่อให้เมื่อเปิดประเทศแล้วเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้

“การตั้งเป้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงมาก เนื่องจากมีเวลาฉีดวัคซีนอีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ต่อให้ระดมสรรพกำลังฉีดให้มากที่สุดอย่างไร อัตราวัคซีนก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ดี ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นและอัตราการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่องว่างระหว่างอัตราการเสียชีวิตสูงและต่ำแตกต่างกันกว่า 16 เท่า ทำให้ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้ได้รับวัคซีนแน่นอน” นณริฏกล่าว

แม้ซ้อมเปิดประเทศก๊อกแรกมาระยะหนึ่งก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ แต่รัฐก็ยังเดินทางเปิดไปเรื่อยๆ ถึงเวลาจริงเคาต์ดาวน์ประเทศไทย ทุกฝ่ายก็หวังจะได้จุดพลุฉลอง!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image