สกู๊ปหน้า 1 : ปลุก ‘ส่งออก’ เดินเต็มสูบ ฝ่าโควิด-ฟื้นศก.

สกู๊ปหน้า 1 : ปลุก ‘ส่งออก’ เดินเต็มสูบ ฝ่าโควิด-ฟื้นศก.

กระแสคลื่นการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ซัดทุกอย่าง ตั้งแต่วิถีความเป็นอยู่ การทำธุรกิจ การลงทุน การเดินทาง และการบริโภค จนทุกด้านทำสถิติแย่สุดหรือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนกดดันระบบเศรษฐกิจโดยรวมของทุกประเทศแย่ลง แซงเหตุการณ์วิกฤตโลกทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น

ประเทศไทยก็ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจย่ำแย่ จากภาคลงทุน ภาคท่องเที่ยวหายไป ภาคบริโภคแม้รัฐบาล จะทุ่มงบประมาณช่วยเหลือเยียวยามาต่อเนื่อง 18 เดือนของการเกิดโควิด-19 แต่ก็เป็นเพียงการประคองปากท้องแบบวันต่อวัน ไม่อาจช่วยดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากอย่างที่เป็นมา

จากรัฐบาลวางเป้าหมายไว้ปีนี้เศรษฐกิจไทยได้เห็นบวก 3.5-4.0% ต้องปรับลดลงทุกๆ 2 เดือน จนวันนี้คาดหวังไม่ติดลบก็ดีแล้ว แต่หากมองลึกไปในระบบเศรษฐกิจ แม้กังวลว่าจะติดลบ แต่ก็คาดหวังจะไม่ติดลบหนัก 5-6% เนื่องจากภาคส่งออกของไทยในวันนี้โดดเด่น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าภาคส่งออกเป็นตัวหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ ขณะที่คลื่น โควิดซัดทุกอย่างกระจัดกระจาย แต่การส่งออกของไทย ไม่แค่ประคองตัวได้ดี แต่ยังสามารถเร่งเครื่องฝ่าวิกฤตเข้าหาฝั่งได้ สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออก เริ่มกลับมาฟื้นเป็นบวกตั้งแต่ปลายปี 2563 แม้ปลายไตรมาส 1 เข้าไตรมาส 2 ประเทศไทยเจอการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ จนถึงวันนี้ แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยยังเป็นบวกและยังบวกได้ต่อเนื่อง 5 เดือนมาแล้ว

โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 23,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 43.82% สูงสุดรอบ 11 ปี ถือเป็นตัวเลขนิวไฮใหม่ เป็นการเติบโตจากทุกสินค้าในกลุ่มเกษตร อุตสาหกรรม จึงส่งผลให้ครึ่งปีแรก 2564 ส่งออกไทย ขยายตัว 15.53% มีมูลค่าอยู่ที่ 132,334 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกจุดที่ยืนยันคือการนำเข้า ครึ่งปีมูลค่า 129,895 ล้านเหรียญสหรัฐ และขยายตัว 26.15% หมายถึงผู้ผลิตยังมองอนาคตส่งออกที่ดี จึงนำเข้าสินค้าทุนหรือวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออก ภาครัฐที่ดูแลโดยตรง

Advertisement

นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ปีนี้การส่งออก ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ทำหน้าที่ได้ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นผลมาจากการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยช่วยขับเคลื่อนให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป และจีน อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและสินค้าเพื่อการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง กลายเป็นอีกปัจจัยช่วยสนับสนุนส่งออก ยังมีปัจจัยเสริมจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน รวมถึงความพยายามของกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เกี่ยวกับการส่งออก

ตัวเลขการส่งออกล่าสุดกรกฎาคม 2564 พบว่าขยายตัวสูงถึง 20.27% ภาพรวมการส่งออก 7 เดือน ปี 2564 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง มีมูลค่ารวมแล้ว 1.54 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และขยายตัว 16.20% สูงกว่าเป้าหมายที่เราวางไว้ที่ 4% มาก

ยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาต่อไป เช่น การผลักดันเปิดด่านชายแดน ยังปิดชั่วคราวจากเกิด โควิด-19 ระบาด หรือกระแสกังวลเจอปนเปื้อนในสินค้าส่งออก ปัญหาขนส่งชะงักบางช่วง และการเจาะตลาดใหม่ๆ กำลังสร้างเรื่องมินิเอฟทีเอ เจาะเข้าเมืองใหม่ในประเทศเป้าหมาย เหล่านี้ต้องทำอีกมาก

Advertisement

ส่วนเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน นาย เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกในปัจจุบัน และครึ่งหลังปี 2564 ยังมีแนวโน้มเป็นบวก ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประมาณการตัวเลขการส่งออกทั้งปีจากบวก 10% เป็น 12-14% แต่ต้องคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานได้ดี ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ บับเบิลแอนด์ซีล และแฟคตอรี่ ไอโซเลชั่น เป็นต้น ท้ายที่สุดจะไปสู่เป้าหมายได้ รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนและจัดสรรวัคซีนให้กับคนงานที่อยู่ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และอยู่ในกลุ่ม แฟคตอรี่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการส่งออกไทย

“ส.อ.ท.ไม่อยากให้ไปเฉพาะเจาะจงกับโรงงานขนาดใหญ่เป็นผู้ส่งออกหรือมีคนงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ต้องคำนึงถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง มีคนงาน 100-200 คนขึ้นไป หรือกลุ่มคลัสเตอร์ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานใหญ่ประกอบเพื่อส่งออก หากโรงงานเหล่านั้นเป็นคลัสเตอร์ก็กระทบต่อการผลิตชะงักได้ เรื่องนี้ข้อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว หากการแพร่ระบาดในโรงงานยังมีเพิ่มและต่อเนื่อง ส่งออกเติบโตตามคาดก็ยาก เพราะต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนชิป และสายพันธุ์ใหม่จากประเทศคู่ค้าไทย อาจต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ประเทศที่ต้องจับตามช่วงนี้คือ สหรัฐและยุโรป หลายเมืองเริ่มพบสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด หากประเทศคู่ค้าล็อกดาวน์ก็เสี่ยงต่อการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 4/2564 อาจเจอปัญหาอีกครั้ง”

รองประธาน ส.อ.ท.ยังชี้ถึงอุตสาหกรรมดาวเด่นของส่งออกที่มีมูลค่าสูงปี 2564 ยังอยู่ใน 9 กลุ่มของ 10 อุตสาหกรรมดาวเด่น ประกอบด้วย ยานยนต์ อาหาร เครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (รวมถุงมือยาง) ยาและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องสำอาง ยกเว้นอุตสาหกรรมอัญมณีถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งออกจึงต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เติบโตได้ถึง 20-30% ส่วนส่งออกปี 2565 ต้องดูกันอีกทีว่าสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างไร ขณะนี้หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจปรับเพิ่มจีดีพีปี 2565 โอกาสเป็นบวก 3-4% เพราะมองส่งออกขยายตัวได้ดี เป็นสัดส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งตอนนี้เริ่มเร่งฉีดบูสเตอร์หรือวัคซีนเข็มที่ 3 กันแล้วในประเทศคู่ค้า ลดเสี่ยงโควิดกลับมาระบาดก็ดีขึ้น จะดีต่อส่งออกไทย ซึ่งต้องติดตามผลในระยะยาวอีกครั้ง

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล เจ้าของเครือ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย เสริมว่า “ส่งออกไทยไตรมาส 4/2564 ยังเชื่อว่าเติบโต น่าจะขยายตัวบวกได้เกิน 2 หลักต่อเนื่อง จะส่งผลส่งออกทั้งปีได้ถึง 12-14% ไม่พลาดแน่นอน ประเด็นหนุนอยู่ที่ตลาดนำเข้าเริ่มสั่งซื้อเพื่อเป็นสต๊อกปลายปีถึงต้นปีหน้าแล้ว ค่าเงินบาทก็อำนวย อ่อนระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ พอแข่งขันด้านราคาได้ ภายในประเทศทุกโรงงานทุกผู้ผลิตป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงานและไม่เกิดการปนเปื้อนในสินค้าได้ดีมาก อีกทั้งเริ่มมั่นใจต่อการนำเข้าและกระจายฉีดวัคซีนของไทยต่อประชาชนและทุกภาคส่วนได้มากในเดือนกันยายนถึงตุลาคม รวมถึงในต่างประเทศด้วย ถือว่าส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบได้ในปีนี้ และปีถัดๆ ไป”

จากมุมมองของทั้งภาครัฐและเอกชน แสดงเห็นถึงโอกาสและอุปสรรคของการส่งออกในโค้งสุดท้ายปี 2564 ก่อนส่งไม้เข้าปี 2565 ยังมีประเด็นหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไป หนังสือพิมพ์มติชนมองเห็นโอกาสและเห็นความหวังของประเทศที่จะฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งด้วยการส่งออก จึงจัดสัมมนาเกี่ยวกับทิศทางการส่งออกของไทยโดยเฉพาะ ในวันที่ 22 กันยายนนี้ ภายในงานมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ พร้อมรับฟังมุมมองจากตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนถึงทิศทางส่งออกไทย เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ปลุกภาคส่งออกให้เข้มแข็ง นำพาประเทศฟันฝ่ามรสุมวิกฤตจากพิษโควิด-19 และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image