3 แบงก์ใหญ่ถกอนาคตการเงินไทย สร้างระบบนิเวศ มุ่งดิจิทัล ลดเหลื่อมล้ำ ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดเพิ่มรายได้

3 แบงก์ใหญ่ร่วมถกอนาคตการเงินไทย สร้างระบบนิเวศร่วมกัน มุ่งสู่ดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดเพิ่มรายได้

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยได้ตั้งเป้าอนาคตสถาบันการเงินไทย ใน 3 ปีข้างหน้า โดยมองไว้ 4 แนวทาง คือ 1.เพิ่มศักยภาพให้การแข่งขันของประเทศ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทางการเงิน เช่น ระบบการโอนเงินพร้อมเพย์ การยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล รวมไปถึงการป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์ 2.ผลักดันเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค CLMV เชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินเข้าด้วยกัน เช่น ระบบ CBCD ต่อยอดจาก e-money 3.การสร้างความยั่งยืน เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยนำคะแนนเครดิตทางเลือก เช่นนำข้อมูลการใช้น้ำใช้ไฟฟ้า มาประกอบการให้สินเชื่อ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ 4.ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล เสริมทักษะในระบบ Information Base Economy

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

นายผยง กล่าวว่า มุ่งไปสู่การเปลี่ยนจุดยืนของประเทศ จากการวิ่งตามคนอื่น เป็นการวิ่งนำอย่างก้าวกระโดด ต่อยอดกับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ร่วมมือปรับการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ ที่เดิมเน้นกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เปลี่ยนเป็นมาดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีผลกับจีดีพีมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันได้พยายามเปลี่ยนเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำ มาเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ขับเคลื่อนด้วยระบบ Open Banking ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม รวมไปถึงการเปลี่ยนจากความเปราะบางไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันด้วย ESG ประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองปัจจัยจากองค์ประกอบภายนอก 4 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์โควิด ภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะโลกร้อน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ แต่สถานการณ์โควิดทำให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างความเสี่ยงและการได้ผลตอบแทนกลับคืนมา 2.ด้านเทคโนโลยี ที่ได้เข้ามาช่วยลดกำแพงทางการเงิน ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าได้หลายกลุ่มเป้าหมาย 3.ด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์อย่างรวดเร็ว 4.ด้านกฎระเบียบ ผู้กำกับดูแลไม่สามารถหยุดยั้งเทคโนโลยีใหม่ๆได้ ต้องเปิดให้ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้ามาในตลาด

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการตั้งโจทย์ไว้ 6 ปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยเปลี่ยนรูปแบบจากธนาคารพาณิชย์ ไปสู่โมเดลธุรกิจแบบใหม่ 3 ส่วนแยกจากกัน 1.ธุรกิจธนาคาร โดยทำให้ง่ายที่สุด ไม่สร้างความสับสนให้กับลูกค้า 2.นิวบลูโอเชี่ยน หลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.บริษัทเทคโนโลยี จะสร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด โดยมีเป้าหมายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

Advertisement

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อนาคตสถาบันการเงินไทย ต้องมีระบบนิเวศเพื่อที่จะสามารถสร้างความเจริญเติบโตได้ นั้นคือ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยพึ่งพาระบบสถาบันการเงินเป็นหลัก บริษัทขนาดใหญ่สร้างจีดีพี บริษัทเอสเอ็มอีสร้างงาน ถ้ารายเล็กไม่ดี เศรษฐกิจก็จะไม่ดีตาม ก่อนวิกฤตโควิดก็มีสถานการณ์ที่ไม่ดีแล้ว ยิ่งมีโควิดเข้ามา ทำให้สถาบันการเงินไทยติดหล่ม สร้างผลตอบแทนได้ต่ำ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)

นายปิติ กล่าวว่า การที่รายย่อยเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเป็นปลายเหตุ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เขามีรายได้เพื่อที่จะสามารถนำเงินมาใช้หนี้ได้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่เพียงแต่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งรายได้ด้วย ต้องทำอย่างไรให้รายใหญ่ผนึกรวมกับเอสเอ็มอี ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ โดยที่ให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ต้องให้มีแพลตฟอร์มระบบการเงินที่รวมทุกธนาคาร แข่งขันกับต่างชาติ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาด ถ้ามุ่งแต่ให้เงินทุนแต่ไม่ช่วยให้มีรายได้ จะเป็นการปล่อยให้เอสเอ็มอีกู้เงินแล้วไปไม่รอด ต้องมีการช่วยสร้างรายได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image