‘อาคม’ ยันรบ.ไร้ปัญหาเรื่องหารายได้เพิ่ม แม้กู้เงินแก้โควิดเยอะ เตรียมวางโครงสร้าง ศก. ในอนาคตแล้ว

‘อาคม’ ยันรัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องหารายได้เพิ่ม แม้กู้เงินแก้โควิดเยอะ เผยเตรียมวางโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตไว้แล้ว พร้อมออกมาตรการภาษีพัฒนาตลาดทุนไทย เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอี

นาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เปิดงาน LiVE Demo Day: The New Road to Capital Market ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs / Startups ยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อน” ว่า ในช่วงที่ผ่านมา 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและ รัฐบาลจึงได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาโรคระบาด และเยียวยา พร้อมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรายได้ของไทยหายไปจากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเที่ยวท่อง โรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (ซัพพลายเชน) รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับความเดือนร้อน

นายอาคม กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ ยังแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้ว่านักวิเคราะห์คาดว่าเมื่อการระบาดของโควิดรอบที่ 2-3 จะทำให้เศรษฐกิจไทยไปไม่รอด แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โตถึง 7.5% และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสก็ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะไม่แข็งแรงมาก ขยายตัวศูนย์กว่าเปอร์เซ็น แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

นายอาคม กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดนี้ กระทรวงการคลังก็ช่วยสนับสนุนลดหย่อนภาษีนำเข้าชุดตรวจเอทีเค พร้อมกับหักค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจเอทีเค ของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ภายใต้แผนงานการพัฒนาตลาดทุนไทย หากมีส่วนใดที่มาตรการภาษีสามารถช่วยได้ กระทรวงการคลังยินดีที่จะช่วย เพื่อเพิ่มช่องทางให้ทุกคนได้รับโอกาสในเรื่องเศรษฐกิจระดับพื้นฐาน หรือระดับฐานราก

นายอาคม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐได้พยายามผ่อนปรน อย่างเช่น การผ่อนคลายล็อกดาวน์วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมทั้งได้มีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้เงินเยียวยาผ่านระบบประกันสังคม ทั้งผุ้ประกอบการและแรงงาน ส่วนกรณีแรงงานนอกระบบ ก็มีการเปิดให้มาลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ เรื่องมาตรการทางการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งได้ออกราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อฟื้นฟูของธปท. วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีแล้ว 3 หมื่นราย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราว ปัจจุบันให้บริการไปแล้ว 74 ราย มูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

Advertisement

นายอาคม กล่าวว่า ถือว่ามาตรการสถาบันการเงินเป็นด้านหลักในการช่วยเอสเอ็มอี แต่หากมองในเรื่องตลาดทุน ซึ่งบริษัทที่มีธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง สามารถมาร่วมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ได้ และอีกส่วนหนึ่งคือพอร์ต mai ซึ่งเปิดให้เพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีกฎที่เข้มงวด โดยเฉพาะความโปร่งใสในเรื่องระบบข้อมูล การบันทึกบัญชีต่างๆ ต้องมีความชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนที่เอสเอ็มอีจดทะเบียนถูกต้อง แต่ยังขาดองค์ความรู้ เงื่อนไข ที่จะเข้ามาในระบบดังกล่าว ส่วนนี้ตลท.และ ก.ล.ต. ก็มีแผนให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ เหล่านี้

นายอาคม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีการกู้เงินจำนวนมากถึง 1.5 แสนล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้นถือเป็นความจำเป็นในการใช้เครื่องมือทางการคลังเข้ามาช่วยในภาวะที่นโยบายการเงินไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ และทุกประเทศก็มีการกู้เงินในช่วงวิกฤตนี้ และยืนยันรัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการหารายได้เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลได้วางโครงสร้างที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศในอนาคต เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค

“ที่มีการพูดว่ารัฐบาลกู้เยอะ และไม่มีปัญญาในการหารายได้เพิ่มขึ้นนั้น จริงๆ แล้วเรามี โดยให้มองภาพโครงการ เช่นอีอีซี ก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นการเคลื่อนย้ายธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา และการผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และนโยบายส่งเสริมธุรกิจนิวเอสเคิฟซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของไทยทั้งนั้น” นายอาคม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image