วงเสวนา เสนอลดเพดานดอกเบี้ยสูง จี้รัฐอัดฉีดเงินช่วยเหลือธุรกิจ-แรงงาน 7 แสนล้าน

วงเสวนาร่วมถกแก้หนี้ เสนอลดเพดานดอกเบี้ยสูง ออกมาตรการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกสถาบันการเงิน จี้รัฐอัดฉีดเงินช่วยเหลือธุรกิจ-แรงงาน 7 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ได้จัดเสวนา เรื่อง โควิด วิกฤติหนี้ ผีซ้ำด้ำพลอย ทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจ 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 93.9 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ธุรกิจเหล่านี้ทำให้มีการจ้างงานสูงถึง 24.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแรงงานทั้งหมด โดยในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคน หรือเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง

นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เสียงสะท้อนจากลูกหนี้ที่ร้องเรียนปัญหาของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ครอบคลุม คือ 1.บางสถาบันการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ทำให้ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการ 2.แม้ว่าจะมีการพักชำระหนี้ แต่ว่ายังมีการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอยู่ ทำให้อนาคตต้องชำระหนี้มากกว่าเดิม 3.มีการปฏิเสธการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่มีงานทำ 4.ไม่มีมาตรการสำหรับลูกหนี้ดี ที่อาจจะมีปัญหาในอนาคต อยากให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนจะมีปัญหา

“ข้อเสนอเบื้องต้นฝากไปถึงภาครัฐ คือ ต้องลดเพดานดอกเบี้ยที่ยังสูงอยู่ ต่อมาให้ทุกสถาบันการเงินไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. พักชำระหนี้ให้ครอบคลุม และส่งเสริมแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น” นางสาวนฤมล กล่าว

นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทาง ธปท. เน้นปรับโครงสร้างหนี้ที่มีหลายรูปแบบ ให้เข้ากับลูกหนี้ในแต่ละราย อย่างถ้าจ่ายไม่ไหวในช่วงระยะนี้ ก็ให้จ่ายเดือนละไม่กี่ร้อยบาท ในอนาคตเมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ก็ให้มีการชำระหนี้มากขึ้น อีกทั้งรวมไปถึงการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อลดกระบวนการด้านสินเชื่อ ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. อยู่ระหว่างการพูดคุย เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือออกมาเหมือนกัน

Advertisement

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีความกังวลเรื่องของหนี้ แต่จะห่วงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้มากกว่า การเป็นหนี้ตอนนี้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการกู้เงินของภาครัฐ ที่ต้องนำมาเยียวยาให้เพียงพอ ต่อมาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจ และต้องมีเงินก้อนเพื่อให้ธุรกิจมีการปรับตัวไปสู่โลกใหม่ แต่ตอนนี้เงินกู้ของรัฐยังเอามาช่วยเหลือไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการคงการจ้างงานที่ต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 80% ของค่าจ้างเดิม โดยต้องคงมาตรการไปอย่างน้อย 6-18 เดือน เมื่อรวมกับมาตรการลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องใช้เงินประมาณ 7 แสนล้านบาท ถ้าไม่ช่วยเหลืออย่างเพียงพอจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

“ปัญหาการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่เท่ากัน หรือที่เรียกว่า K-Shape แบ่งออกเป็น 3 มิติ 1.คนที่จนอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย 2.การช่วยเหลือเข้าไม่ถึงคนจน เพราะไม่อยู่ในระบบฐานภาษี 3.คนรวยฟื้นตัวเร็วกว่า ทำให้หลังเหตุการณ์โควิดจะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกันมากขึ้น” ดร.สมประวิณ กล่าว

ดร.ปาริชาต มั่นสกุล ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด อดีตผู้พิพากษา และอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เปิดเผยว่าวัตถุประสงค์ของกระบวนการล้มละลาย แบ่งเป็น 1.ต้องการให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างรวดเร็วเป็นธรรม 2.ต้องการให้ลูกหนี้ปลดภาระหนี้สิน ให้โอกาสเริ่มต้นใหม่ 3.ให้เศรษฐกิจไปต่อได้ แต่กระบวนการล้มละลายในไทยที่ผ่านมา พบว่า คดีที่เข้าสู่การล้มละลาย เป็นคดีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินถึง 98.6% หมายความว่าเจ้าหนี้ไม่ได้รับการชำระหนี้ ส่วนลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย กว่าจะปลดจากการล้มละลายใช้เวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งค่อนข้างยาวนานมาก

Advertisement

“ข้อเสนอให้มีการปรับประบวนการล้มละลาย ประกอบไปด้วย 1.ตรวจสอบคดีที่ไม่จำเป็นออกไป เช่นการฟ้องล้มละลายเพื่อจำหน่ายหนี้สูญหรือการทวงหนี้ ควรจะมีกระบวนการอื่นมารองรับตรงนี้ หรือมีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ไม่ให้คดีเข้าสู่ศาลจำนวนมาก 2.ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดกระบวนการ 3.เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทรัพย์สิน ไม่ต้องใช้กระบวนการสืบหาทรัพย์สินให้ยุ่งยาก 4.ยกระดับให้ขายทอดตลาด ผ่านทางออนไลน์” ดร.ปาริชาต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image