เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ กางแผนบูมส่งออก-ฟื้นศก.

เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ กางแผนบูมส่งออก-ฟื้นศก.

เอกฉัตร ศีตวรรัตน์
กางแผนบูมส่งออก-ฟื้นศก.

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชน จัดงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” วันที่ 22 กันยายน 2564 รูปแบบ Live Streaming โดยนายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ต่อแนวทางดำเนินการและทิศทางส่งออกจากปี 2564 สู่ปี 2565

⦁ภาพรวมส่งออกโตแล้ว16.20%

สถานการณ์ส่งออกจากนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะดีมานด์ซัพพลายของตลาดโลกเริ่มดีขึ้น จากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด ทำให้ดีมานด์ของตลาดโลกเพิ่ม ในเดือนกรกฎาคม 2564 การส่งออกมีมูลค่าขยายตัวบวกกว่า 20.27% มูลค่ากว่า 22,650 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ทำให้ 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ขยายตัวบวก 16.20% มูลค่าประมาณ 154,985 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.72 ล้านล้านบาท สินค้าขยายตัวดี ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรม สินค้าอาหาร ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง ไก่สดแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลจากโควิดคลี่คลายแล้ว กำลังซื้อในหลายประเทศดีขึ้น ทำให้ดีมานด์เกิดขึ้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมก็เพิ่มเช่นกัน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะสถานการณ์โควิดการใช้ชีวิตต้องอาศัยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เทคโนโลยีในการสื่อสาร สินค้าเวิร์กฟรอมโฮมเป็นส่วนใหญ่ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ทำให้สินค้าพวกนี้ขยายตัวไปไกล รถยนต์และอุปกรณ์โตตามการค้าดีขึ้น เพราะขนส่งรถบรรทุกมีมากขึ้น และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ตอนนี้เวิร์กฟรอมโฮม สเตย์โฮม ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่อยู่ที่พักอาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้าจึงตามมา และผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกตลาด ตลาดที่มาเร็วหน่อยคือจีน เพราะสถานการณ์ดีขึ้นก่อนใคร ส่งออกไปตลาดจีนจึงเพิ่มมาก และก็พวกเอเชียใต้ที่ควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดี ส่วนแถบละติน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ทั้งหมดนี้ขยายตัวดีหมด

Advertisement

⦁โหม150กิจกรรมปั๊มรายได้กว่า2หมื่นล.

เนื่องจากนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้แถลงไว้เมื่อต้นปี มี 14 ข้อ อาทิ เร่งพัฒนาขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี และคนที่อยู่ในวงการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด และการพัฒนาสินค้า และการใช้เทคโนโลยี หรือการพัฒนาการค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด พวกนี้ก็เป็นนโยบาย 1 ใน 14 ข้อทั้งหมด เรานำพวกนี้มาปรับใช้กับกิจกรรมแบบนิวนอร์มอล ไม่ลองก็ไม่รู้ เริ่มตั้งแต่ปี 2563 แล้ว ในปี 2564 ต้องเข้มข้น เพราะเนื่องจากโควิดยังอยู่ ขอให้เร่งรัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยวิธีออนแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่มาจากการปรับกิจกรรมแบบ physical ไม่ว่าจะเป็น Trade Mission

ในเมื่อประเทศปิดการเดินทางไปไม่ได้ Trade Mission ก็หายไป พวกกิจกรรมแฟร์ อย่าง Thaifex งานสไตล์ เราจัดไม่ได้ ก็เปลี่ยนแพลตฟอร์มพวกนี้มาอยู่บนออนไลน์หมด เรียกว่า Virtual trade fair online แล้วก็ใช้พวกดิจิทัลสร้างแพลตฟอร์มรูปแบบออนไลน์ คล้ายงานแฟร์จริงๆ สามารถเข้าไปดูสินค้าของผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมได้ และมีการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ คุยกับเขาได้ สั่งซื้อของได้ ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นการเริ่มต้น เพียงแต่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีพวกนี้จะมา เพราะพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน และเทคโนโลยีเมื่อมันไปมันก็ไปเลย คิดว่าได้ค้าขาย 24 ชั่วโมง เพราะแต่ก่อนเปิด 10 โมงเช้า 6 โมงเย็นต้องปิด แต่ตอนนี้ถ้าคุณเจรจาการค้า มีลูกค้าเข้ามา คุณเจรจาได้ 24 ชั่วโมง ทั่วโลก อันนี้คือข้อดีนะ ถ้าข้อเสียคือเหนื่อย แต่ถ้าพูดถึงก็มีประโยชน์เยอะ

Advertisement

อีกกิจกรรมคือ Online Business Matching แต่ก่อนต้อง Matching Onsite งาน ที่ต้องคุยกันหรืออีเมล์ถามกัน แต่ตอนนี้ไม่จัดเป็นว่าเป็นนโยบายของท่านบอกว่าจัดให้มากที่สุด เดือนหนึ่งได้จัดถึง 4-5 ครั้ง เท่าที่ทำได้ ทั้งในเรื่องของสินค้า กลุ่มประเภทสินค้าหรือตลาด กลุ่มสินค้าอาหาร ไลฟ์สไสตล์ และก็ดิจิทัลคอนเทนต์ก็ทำ และก็ไปทำในต่างจังหวัดด้วย แล้วก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเยอะมาก รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 130-150 กิจกรรมต่อปี ซึ่งได้ผลไหม ก็ได้ผล สร้างรายได้จากกิจกรรมต่างๆ ในปีนี้แล้ว
กว่า 20,000 ล้านบาท เมื่อเปิดตัวออนไลน์ไปแล้ว การค้าเริ่มเกิดปุ๊บ มันสามารถติดต่อกันได้ เพราะฉะนั้น Online Business Matching ดีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย ที่จะเข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจ เรียนรู้วิธีการทำการค้าแบบใหม่ๆ และก็รูปแบบของงานที่เป็นรูปแบบ physical

แต่ละปีในงานแสดงสินค้านานาชาติในแต่ละปี ก็เปลี่ยนมาเป็น Virtual trade show และเป็น Hybrid คือมีการผสมผสานสินค้าบางอย่าง มาทำเป็น Virtual เต็มร้อยไม่ได้ เช่นเรื่องอาหาร อย่าลืมว่ามันมีการกิน ต้องชิม เราใช้วิธีจัดแสดงเป็น Hybrid ที่ประเทศต่างๆ เพื่อให้ชิมอาหารได้ สินค้าตัวอย่าง ทำให้เจรจาการค้าเกิดขึ้น และก็อย่างเรื่องไปจัดเป็น install promotion ก็ยังจัดอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ส่งผู้ประกอบการไป ส่งแต่สินค้าไป เรียกวิธีแบบนี้ว่า Mirror – Mirror พอโชว์สินค้า มีการ Live แล้วก็คุยกันเลย นัดเวลาเปิด เวลาปิด ค่อนข้างได้ผล เป็นวิธีการค้าแบบใหม่ ส่วนที่ทำอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม คือพวกงาน Mini Thailand Week เพียงแต่ว่าย่อส่วนเฉพาะสินค้า เช่น ผลไม้เราทำใกล้ๆ ในอาเซียน อันนี้ทำมาทุกเดือนในกลุ่มอาเซียน ค่อนข้างประสบความสำเร็จเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกผลไม้ อาหารทะเล เพราะต้องมีการชิม เรายังคงทำอยู่ กิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นออนไลน์

⦁โค้งสุดท้ายโอกาสเห็นบวก2หลัก

ทิศทางการงออกในไตรมาส 4/2564 จะยังขยายตัวต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์โควิดในต่างประเทศเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ถ้าถามว่าเป้าหมายส่งออกปีนี้ตั้งไว้ 4% ได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่ไม่ปรับเปลี่ยนแปลงตัวเลขตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี (จุรินทร์) ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ให้ทำให้ดีที่สุดแล้วกัน อย่างไรก็ตามก็มองว่าโค้งสุดท้ายปีนี้ หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น เชื่อว่าตัวเลขอาจเห็นตัวเลข 2 digit อีกเหมือนกัน เพราะแรงดันจากการค้าโลก ที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นอีก ส่วนเป้าหมายปี 2565 จะเป็นอย่างไร กำลังหารือกับภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรม ที่จะรู้ว่าแท้จริงของสถานการณ์และมีออเดอร์เข้ามาอย่างไร รวมถึงข้อมูลจากทูตพาณิชย์ทั่วโลก ต้องประเมินสถานการณ์และโอกาสของปี 2565 มาให้ประกอบการพิจารณา และผลจากการหารือในเวที กรอ.พาณิชย์ (เอกชนกับกระทรวงพาณิชย์) น่าจะชัดเจนในปีอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

นอกจากนั้นในกลุ่มสินค้าอย่างหนึ่งที่กรมทำควบคู่ไปกับการใช้ดิจิทัล คือการพัฒนาสินค้า ภาระหน้าที่ของกรมไม่ได้ลืมฟังก์ชั่นตัวนี้ไป ท่านรองนายกรัฐมนตรียังให้การสนับสนุนอยู่ และเป็นนโยบายด้วย ให้มีการพัฒนาสินค้า ท่านเน้น Mega Trend แล้วก็พวก BCG อุตสาหกรรมด้านสะอาด พวก Mega Trend ที่ในตลาดโลกต้องการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เข้ากับยุคนิวนอร์มอล พวกสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ จะมีเรื่องของสุขภาพเกี่ยวข้องอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร พวกสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ แล้วก็ Mega Trend ที่มาแรง อย่างสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเทรนด์ของคนจะอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก กลุ่มพวกไลฟ์สไตล์จะเปลี่ยนชอบเลี้ยงสัตว์กันมาก อาหารสัตว์เลี้ยงก็มา แม้กระทั่งสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ พวกสุขภาพความงามก็โตอย่างมาก ตามเทรนด์ของโลก

ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ อันนี้ต้องยอมรับว่าในยุคของโควิดธุรกิจอันหนึ่งที่ซบเซาลงไปมากเกือบเป็นศูนย์ คือธุรกิจท่องเที่ยว เป็นธุรกิจหนึ่งที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างมาก แล้วมันไปผูกพันกับธุรกิจประเภทอื่นด้วย บริการอย่างอื่นด้วย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร แม้กระทั่งของที่ระลึก สินค้าพวกนี้เกี่ยวกันหมด เนื่องจากสินค้าบริการประเภทท่องเที่ยวซบเซา แต่ก็มีธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่เติบโตอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือธุรกิจบริการดิจิทัลคอนเทนต์ พวกภาพยนตร์ เกม พวกนี้เติบโตเต็มที่เพราะเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยน เช่น โปรแกรมที่ทำอะไรบนมือถือได้ ภาพยนตร์ดูบนมือถือได้ สั่งอาหารอยู่บนมือถือ ฉะนั้นเทคโนโลยีที่ไปกับพวกธุรกิจบริการจะเติบโตไปตามอุตสาหกรรมดิจิทัลตรงนี้ด้วย อย่างธุรกิจเกมออนไลน์เติบโตมากในตลาดโลก ถ้าสังเกตกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับเกม ค่อนข้างมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก นอกจากนั้นที่ลืมบอกไปคืองานแฟร์ในต่างประเทศที่เราเข้า เราเข้าไปด้วยเหมือนกัน เพราะเนื่องจากผู้จัดงานเขาก็ปรับเปลี่ยนงานแฟร์ ทั่วโลกเขาก็ปรับเปลี่ยนหมดเลย ออแกไนเซอร์ในต่างประเทศที่เป็นเจ้าของงานแฟร์ อย่างเช่น งาน American Film เขาปรับเปลี่ยนเป็นออนไลน์หมด งาน Anuga มีออนไลน์กันหมด เป็น Virtual trade fair ซึ่งกรมเข้าร่วม ไม่ได้ทิ้ง เขาเปลี่ยนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยไปมีส่วนในตลาด ไม่หายไปจากตลาดโลก

⦁ปัจจัย‘ปลุกพลังส่งออก’2565

ปัจจัยที่เสริมในช่วงโควิด-19 ที่ทั่วโลกน่าจะเผชิญถึงปีหน้า ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่จะทำให้เติบโตไปได้ คือต้องเน้น 1.World Demand ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เราปรับเปลี่ยนกิจกรรมของกรมทั้งหมด ตามนโยบาย 14 ข้อ ของท่านรองนายกรัฐมนตรี 2.การแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ได้มีเวที กรอ.พาณิชย์ ที่มีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะเมื่อมีปัญหาเนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ไม่แน่นอนเพราะโควิด พออะไรมาปรับเปลี่ยน ปัญหาวงจรซัพพลายเชนของการค้าโลก เข้ามาสู่ในกระบวนการของ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งแก้ไขได้เร็วมาก ซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีฉับไวมากในเรื่องนี้

อีกปัจจัยหนุนคือ เงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยราคาถูกลงแข่งขันราคาได้มากขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับความต้องการของโลกเพิ่มและสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากตลาดโลกอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น ฉะนั้นผู้นำเข้าเก่าๆ ของประเทศไทยกลับเข้ามาสั่งออเดอร์สินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ปลายปีส่งออกค่อนข้างหดตัว อีกปัจจัยหนุนเร่งจัดกิจกรรมและปรับเปลี่ยนไปซื้อขายบนแพลตฟอร์มใช้ออนไลน์กันมากขึ้น เรื่องการพัฒนาบุคลากร ท่านรองนายกฯให้ความสำคัญมากเช่นกัน ในทุกส่วนของอุตสาหกรรมการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ ท่านเน้นให้ความรู้กับผู้ประกอบการ เช่น ผู้ประกอบการใหม่ เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ให้รู้จักวิธีการค้าออนไลน์ ฉะนั้นหลายโปรแกรมที่เราให้ความรู้ของสถาบัน NDA ของกรม เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปใช้ออนไลน์มากขึ้น ใช้ Webinar ใช้ Zoom เพื่อให้ความรู้กระจายต่อ คือ ใครอยากฟังก็ได้ เปิดโอกาสให้คน ถ้าอยากทำการค้าทำได้ ถ้าติดตามข่าวสารของสถาบัน NDA จะรู้ว่ามีพวกวิชาองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศมากมาย รวมไปถึงบุคลากรข้าราชการของการค้าระหว่างประเทศด้วย รองนายกฯให้บทบาทพาณิชย์จังหวัด เป็นเซลส์แมนจังหวัด ต้องช่วยเหลือการค้าในภูมิภาค เชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อาเซียน ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อย่างกิจกรรมเร่งเปิดด่านเพิ่มช่องทางโลจิสติกส์ให้มากขึ้น ถ้าขายแล้วขนส่งไม่ได้ก็เป็นปัญหา จึงทำทุกอย่างเพื่อเปิดช่องทางการค้าของประเทศไทยให้มากขึ้น อีกปัจจัยหนุนคือโครงการพัฒนาบุคลากรพร้อมกับพัฒนาสินค้า อย่าง Mega Trend หรือตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คิดว่าอาจไม่ได้เห็นการช้อปปิ้งตามห้างแต่ไปช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น การใช้พาณิชย์ดิจิทัลเป็นปัจจัยหนุนในอนาคต

ส่วนปัจจัยถ่วงที่กังวล คือ การระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อระบบซัพพลายเชน จนระบบการค้าของโลกติดขัดไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่ง แรงงาน ภาคการผลิตติดขัด ภาคการบริการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งติดขัดด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ส่วนกุญแจสำคัญที่จะคลี่คลายตรงนี้ได้คือการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ความมั่นคงของสาธารณสุขต้องมาก่อน ถึงจะทำให้ความมั่นคงของเศรษฐกิจเกิดขึ้น ไปสู่ความมั่นคงของสังคม เนื่องจากว่าการฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานแล้ว อย่างน้อยทำให้เราสามารถดูแลสุขภาพตัวเอง รักษาสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น สามารถทำงานได้ปลอดภัย อันนี้เป็นส่วนสำคัญที่ว่าวัคซีนสำคัญในตอนนี้ จึงให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ฉีดวัคซีนให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข ก็ขอให้คำนึงด้วยตัววัคซีนสำคัญ ถ้าทั่วโลกสถานการณ์โควิคลี่คลายลง การค้าคงเหมือนเดิม ชีวิตคน เศรษฐกิจก็จะกลับมาเป็นปกติ และหวังว่าจะดีขึ้นในปี 2565

ส่วนหลักยึดการทำงาน คือ ตั้งรับ ปรับตัว และแสวงหาโอกาส

 

สำหรับอีกหลายเนื้อหาและมุมมอง รับฟังได้ที่สัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” จัดโดยมติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” จากนั้นเปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้! กับวงเสวนา “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” ตัวแทนจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ในรูปแบบ Live Streaming ที่ FB : Matichon Online – มติชนออนไลน์ FB : Khaosod – ข่าวสด FB : Prachachat – ประชาชาติธุรกิจ YouTube : matichon tv – มติชน ทีวี.#มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image