นักวิชาการ ผิดหวัง กรมศุลฯ เตรียมเสนอลดภาษีนำเข้า ซิการ์ ไวน์ สุรา

นักวิชาการ ผิดหวัง กรมศุลฯ เตรียมเสนอลดภาษีนำเข้า ซิการ์ ไวน์ สุรา เปิดบทเรียนจากฟิลิปปินส์ ผลงานแซงหน้า ไทยควรเอาอย่าง ขึ้นภาษีบุหรี่ทุกปี 4% จัดเก็บภาษีอัตราเดียว ช่วยลดคนสูบ ลดปัญหาบุหรี่เถื่อน แจง ก.คลัง รัฐบาล ต้องรู้ทัน ไม่หลงกล บ.บุหรี่ ปมปัญหาบุหรี่เถื่อน แก้ได้ด้วยมาตรการทางภาษี

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัย ติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่กรมศุลกากร เตรียมพิจารณาปรับลดพิกัดอัตราขาเข้าสินค้าประเภทไวน์ สุรา และยาสูบประเภทซิการ์ลงกึ่งหนึ่ง เป็นเวลา 5 ปี ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาพำนักและลงทุนในประเทศ ถือว่าผิดความคาดหมายของภาคีเครือข่ายนักวิชาการควบคุมยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก

ซึ่งทราบกันดีว่ากระทรวงการคลังจะเสนออัตราภาษีบุหรี่ใหม่ให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อมาแทนระบบภาษีปัจจุบันที่ใช้ระบบ 2 อัตรา ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งข้อเสนอของภาคนักวิชาการควบคุมยาสูบ เสนอให้ใช้อัตราภาษีเดียวในบุหรี่ทุกประเภท และภาษีอัตราใหม่จะต้องมีผลให้บุหรี่ทุกประเภทมีราคาไม่ถูกลงจากราคาปัจจุบัน เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น ไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ที่สำคัญภาครัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น

“ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีบุหรี่โดยเปลี่ยนจากภาษีอัตราเดียวเป็นสองอัตรา เมื่อปี 2560 ทำให้คะแนนประเมินภาษีบุหรี่ของไทย โดย University of Illinois Chicago ในปี 2561 ได้ 1.75 คะแนน ลดลงจาก 2.25 คะแนน ในปี 2559 เป็นช่วงก่อนการปรับโครงสร้างภาษี นอกจากจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีลดลงแล้ว ยังส่งผลให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย คือจาก 3.4% เมื่อปี 2557 เพิ่มเป็น 5.7% ในปี 2561” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ประเทศฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการปฏิรูประบบภาษีบุหรี่ที่ดี โดยรัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นภาษีทุกปี ปีละ 4% มาตั้งแต่ปี 2555 มีการปรับโครงสร้างภาษีจากที่เคยมี 4 ระดับ จนปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียงระดับเดียว จากที่เคยเก็บภาษีในอัตรา 2.72 เปโซต่อซอง ในบุหรี่กลุ่มราคาถูกที่สุด ปรับเพิ่มมาเก็บภาษีในอัตรา 30 เปโซต่อซอง ซึ่งจัดเก็บอัตราภาษีบุหรี่เท่ากันทุกกลุ่มราคา ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลได้รายได้จากภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราการสูบบุหรี่ลดลง และยังส่งผลให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนลดลงด้วย

Advertisement

โดยฟิลิปปินส์ มีคะแนนประเมินภาษีบุหรี่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.25 คะแนน เมื่อปี 2557 ขึ้นมาเป็น 2.5 คะแนนในปี 2559 และ 3.75 คะแนน ในปี 2561 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน และสัดส่วนบุหรี่เถื่อนในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 12.2% เมื่อปี 2557 ลดเหลือ 10.8 ในปี 2561 ซึ่งบทเรียนการปฏิรูปภาษีบุหรี่ของฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ได้ทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด กลับช่วยทำให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนลดลงด้วย

“ยิ่งใกล้วันที่จะประกาศอัตราภาษีแบบใหม่ มักมีการนำเสนอข่าวประเด็นบุหรี่เถื่อนอย่างต่อเนื่อง บุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่ผิดกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลไม่ให้ขึ้นภาษีบุหรี่มาทุกยุคสมัย แต่ข้ออ้างนี้ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่าไม่เป็นความจริง จากการศึกษาข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลก พบว่าการขึ้นภาษีบุหรี่หรือการทำให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น ไม่ได้ทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำให้บุหรี่เถื่อนยังคงอยู่ ได้แก่ การไม่เอาจริงของรัฐบาลในการปราบปราม ระบบศุลกากรและระบบภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี จะรู้ทันบริษัทบุหรี่ ไม่หลงกลการนำบุหรี่เถื่อนมาเป็นข้ออ้างไม่ให้ขึ้นภาษี ขอให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่คำนึงถึงสุขภาพและชีวิตของคนไทย โดยอัตราภาษีใหม่ควรเป็นอัตราเดียว และต้องทำให้ราคาบุหรี่ขายปลีกมีราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้คนเลิกสูบหรือสูบน้อยลง และป้องกันไม่ให้เด็ก เยาวชน เข้ามาเสพติดบุหรี่ เพราะการที่บุหรี่มีราคาถูกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาติดบุหรี่ โดยจะต้องทำควบคู่กับการออกนโยบายเพื่อจัดการบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ และลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ของประเทศไทย

Advertisement

ทั้งนี้ ระบบภาษีที่ใช้อยู่ในขณะนี้คือ เป็นระบบ 2 อัตรา คือ บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกต่ำกว่าซองละ 60 บาท เก็บภาษี 20% และบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาท เก็บภาษี 40% ซึ่งระบบภาษีนี้มีจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่ลดราคาขายปลีกลงมาเท่ากับหรือต่ำกว่าซองละ 60 บาท เพื่อเสียภาษีน้อยลง ทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยลดลง รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image