จุรินทร์ โชว์ตัวเลขส่งออก ส.ค. มั่นใจยอดปี 64 ทะลุ 2 หลัก ชี้ฟื้นตัวต่อเนื่อง

“จุรินทร์” โชว์ตัวเลขส่งออก ส.ค. ดันต่อส่งออกปี 65 ” มัลลิกา” ชูผู้นำภาวะวิกฤต ชี้พาณิชย์ผนึกผู้ส่งออก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้นโยบายและเร่งรัดติดตามนโยบาย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า อย่างใกล้ชิดและสั่งเร่งรัดแผนท้ายปีพร้อมเดินหน้าส่งแผนงานปีหน้าเพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤติโควิด-19

นางมัลลิกา กล่าวว่า รองฯจุรินทร์ มั่นใจตัวเลขส่งออกไทยปี 2564 ทะลุ 2 หลักแน่อน จากเดิมตั้งไว้ 4% พร้อมชู “กรอ.พาณิชย์” หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ เป็นแกนสำคัญแก้ปัญหา ส่งออก ส่วนการส่งออกในปีหน้าเชื่อว่าสถานการณ์ยังดีแต่อาจจะต้องทำงานหนักขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับแผนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนทั้งโลก New normal จำเป็นที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จะต้องปรับแผนการดำเนินงานให้รองรับวิถีชีวิตรวมทั้งหลังจากเกิดโรคระบาดด้วย

นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตั้งแต่การเกิดโควิดเมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั่นคือการทำนโยบาย OBM หรือ Online business matching จับคู่ทางการค้าและธุรกิจ และจากนี้จะประชุมหารือติดตามนโยบายกับผู้บริหารระดับสูงทุกวันจันทร์หรือวันแรกของทุกสัปดาห์

Advertisement

นางมัลลิกา กล่าวว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ วางเป้าหมายว่าการส่งออกสินค้าเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมีสัดส่วน 50.83% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไทย โดยการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ในปีนี้การส่งออกของไทยมีการฟื้นตัว อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564

“เป้าหมายที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ตอนแรก 4% ขณะนี้เกินเป้าไปแล้ว 4 เท่าตัว เพราะแค่ 7 เดือนขยายตัวแล้ว 16.20% ซึ่งกระทรวงยังคงเป้าไว้เดิมไม่ปรับเป้าเพื่อป้องกันความสับสน โดยจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสูงขึ้น

ซึ่งจากการคาดการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างและสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า คาดว่าตัวเลขการส่งออกทั้งปีน่าจะเกิน 2 หลักแน่นอน ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ไม่ใช่แค่ตัวเลขฐานต่ำของปี 2563 แต่เป็น ผลของ 2 ปัจจัยควบ คือ การฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็น แรงดึงในด้านดีมานด์จากภายนอกประเทศ และการผลักดันและแก้ไขปัญหามากมายโดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นแรงหนุนจากภายใน “

นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะการทำงานภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการส่งออกและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะต้องติดตามทีมเซลล์แมนประเทศไทย หรือทูตพาณิชย์ประจำ 58 พื้นที่ทั่วโลกให้ทำงานติดตามให้ออกมาเป็นผลสัมฤทธิ์ให้เร็วและทันเวลาที่สุด

ส่วนทีมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ให้ใช้ทั้งเอฟทีเอและข้อตกลงต่างๆให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่สุด ด้านกรมการค้าต่างประเทศนั้นให้เร่งรัดข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่ทำไว้กับจีนและหลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขายแบบ GtoGโดยกระชับเวลาที่สุดทันกับสถานการณ์และนโยบาย

พร้อมทั้งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายของแต่ละประเทศหลังจากสถานการณ์โควิดด้วย นอกจากนั้นทางฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ก็จะต้องนำแผนนโยบายชาติและแผนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาคอยวิเคราะห์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและติดตามสถานการณ์เรียลไทม์ ซึ่งข้าราชการกระทรวงพาณิชย์มีประสิทธิภาพและเมื่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดทิศทางที่ชัดเจนก็ทำให้ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิผล

นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกในระยะต่อไป กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ “นำการผลิต” เชื่อมโยงโอกาสจากความต้องการของตลาดโลกให้กับผู้ส่งออกจากทุก พื้นที่ทั่วประเทศ โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างเซลส์แมนประเทศ เซลส์แมนจังหวัด และภาคเอกชน โดยการ ผลักดันการส่งออกในภาพรวม จะเน้น รักษาตลาดเดิม อาทิ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปิดตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย อินเดีย

นอกจากนี้จะเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลก และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก

1.สินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดโลกใน 3 กลุ่มหลักคือ สินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงอาหาร สัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ ทำงานที่บ้าน (work from home) และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการ ติดเชื้อ และสินค้าเพื่อสุขภาพและ อนามัย

2.สินค้ามูลค่าเพิ่มที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งได้แก่สินค้าอาหารแห่งอนาคต (future food) ซึ่ง ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก คือ อาหารฟังก์ชัน (functional food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food) อาหารทางการแพทย์ (medical food) และอาหารอินทรีย์ (organic food) ที่ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพื่อโภชนาการเฉพาะบุคคล เพื่อสุขภาพจิตที่ดี เพื่อผู้บริโภคที่ไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ (Plant-based)

สำหรับการส่งออกในปี 2565 เชื่อว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยยังดีอยู่ แต่อาจจะต้องทำงานหนักขึ้น เพราะจะต้องเจอกับ คู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาที่เร่งเครื่องการส่งออก ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบในเรื่องของราคาสินค้าที่ถูกกว่าประเทศไทย ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้าของไทยเพราะแบรนด์สินค้าไทยได้รับความน่าเชื่อถือจาก ทั่วโลกอยู่แล้ว จึงเป็นความได้เปรียบและเป็นจุดแข็งของสินค้าไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 กันยายนนี้ ในการสัมมนา ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย นายจุรินทร์ จะเผยตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งมีทิศทางขยายตัวบวกต่อเนื่อง และมีโอกาสขยายตัว 2 หลักอีกเดือน พร้อมภาพรวม 8 เดือน 2564 โดยตัวเลขส่งออกทั้งปี 2564 ตามแผนภายในกระทวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัวได้ 12-13 %ได้แน่นอน รวมถึงแนวทางการผลักดันการส่งออกโค้งสุดท้าย ที่ภาคเอกชนระบุว่ามียอดสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image