“จุรินทร์” โชว์วิสัยทัศน์ “รัฐหนุน-เอกชนนำ” ฝ่า 4 ด่านความท้าทายจากค่ายการเมืองการค้าโลก

“จุรินทร์” โชว์วิสัยทัศน์ “รัฐหนุน-เอกชนนำ” ฝ่า 4 ด่านความท้าทายจากค่ายการเมืองการค้าโลก ย้ำส่งออกไทยยังเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย!!!

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดงานเสวนา และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” ในงานสัมมนา “การส่งออก:ความหวังเศรษฐกิจไทย” ณ อาคารสํานักงาน บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน)

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในทัศนะของตนเศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจขาเดียวในการนำรายได้เข้าประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุด 2 ขา 1.การท่องเที่ยว 2.การส่งออก เมื่อขาหนึ่งเดี้ยง เศรษฐกิจบ้านเราก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อไหร่อีกขาหนึ่งเราซ่อมเสร็จ สถานการณ์เอื้ออำนวยเราจะยิ่งไปโลด ก่อนโควิด ท่องเที่ยวของเราทำรายได้เข้าประเทศ 11.33% ของจีดีพี การส่งออกประมาณ 45% รวมเป็น 66% ที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่ปัจจุบันท่องเที่ยวเหลือแค่ 1.87% ส่งออกแทนที่จะแย่ไปด้วย แต่เป็น 50.83 % ส่งออกบวก ท่องเที่ยวโควิด กลายเป็น 52% ยังไม่ถึงกับเลวร้าย เป็นตัวเลขที่อยากให้เห็นภาพ

ดังนั้นการส่งออกนอกจากจะเป็นความหวังแล้วจะต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้างที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ

1.ดูจากตัวเลขการส่งออก มีอัตราการเจริญเติบโตที่ชัดเจน ปีนี้64 ตั้งแต่กรกฎาคมลงไปโต 5 เดือนต่อเนื่อง เป็นบวกตั้งแต่เดือนมีนาคม +7% เมษายน +11% พฤษภาคม +41%และมิถุนายน +43% เป็นนิวไฮใหม่ของอัตราการเติบโตของการส่งออกในเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม +20% แต่คาดว่าเดือนต่อไปจะบวกน้อยกว่านี้เพราะพิษจากการล็อกดาวน์เริ่มปรากฏกระทบภาคการผลิต โรงงานบางแห่งปิดตัวหรือปิดการผลิตบางส่วน โลจิสติกส์ข้ามจังหวัดข้ามประเทศเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่เชื่อว่ายังเป็นบวกอยู่และปลายปียังคงเป็นบวก

Advertisement

ภาพรวม 7 เดือนแรกตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม โต 4 เท่าของเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม +16.2% แล้ว และยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกินกว่าเดือนละ 700,000 ล้านบาท

2.นโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ตนเข้าไปรับผิดชอบดูแลสนับสนุนการส่งออกชัดเจนเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์รัฐหนุนเอกชนนำเอกชนต้องเป็นพระเอกเป็นกองหน้า ยิงประตูรัฐบาลเป็นกองหลังคอยสนับสนุนส่งเสริมให้กองหน้าไปยิงประตูเอาเงินเข้าประเทศ หลักที่ถูกต้อง รัฐอย่าทำตัวเป็นพระเอกเพราะไม่เก่งเท่าเอกชน เค้ารู้เชิงลึกและเป็นนักรบตัวจริง อย่าไปสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคอยู่ตรงไหนรัฐต้องเร่งแก้ เพื่อให้เขาเป็นพระเอกยิงประตูนำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุด

“เมื่อผมเข้าไปรับผิดชอบเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีการจัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ รัฐกับเอกชนจับมือร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการส่งออกจับมือกันแก้ปัญหาหน้างาน เพื่อให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วตัวเลขส่งออกจะได้ขึ้น

Advertisement

ที่ผ่านมาเราจับมือกับเอกชนแก้ปัญหาเชิงรุกชัดเจน เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลก เราใช้ทุกวิถีทาง วันนี้ตัวเลขรวมสมดุลแล้วคือตู้นำเข้ากับความต้องการใช้เกินดุล ยังเหลือตู้อยู่ 120,000 TEU แต่บางช่วงติดขัดเพราะไม่ได้มาตามเวลา แต่ตัวเลขรวมถือว่าปัญหาน้อยลงแต่ต้องติดตามเฝ้าระวัง เราแก้ปัญหาตามคำแนะนำของภาคเอกชนเปิดโอกาสให้เรือขนาด 300 ถึง 400 เมตร เข้ามาเทียบท่า เพื่อนำตู้เปล่ากับตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาใช้ได้และประสบความสำเร็จ พฤษภาคมถึงสิงหาคม เข้ามา 8 ลำ 36,054 TEU ตุลาคมถึงธันวาคม มีกำหนดการว่าจะเข้าใหม่ 7 ลำ น้ำตู้เข้ามาประมาณ 25,000 TEU

รวมปีนี้ที่เราจับมือกับภาคเอกชนแก้ปัญหาจะมีเรือใหญ่เข้ามา 15 ลำ รวมนำตู้เข้ามา 61,054 TEU ปัญหาใหญ่อีกข้อคือค่าระวางเรือ ที่เป็นปัญหาทั่วโลก หลายครั้งค่าระวางเรือแพงกว่าค่าข้าวที่ใส่ไปในตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้แข่งขันไม่ได้ สำหรับ SMEs ขอให้รวมตัวกันและซื้อเป็นล็อตใหญ่และกรมการค้าต่างประเทศจะช่วยเจรจาให้ แต่การรวมตัวของเอกชนนั้นไม่ง่าย หรือเอกชนรายใหญ่ผู้ค้าข้าวรวมตัวกันให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นหน่วยงานกลางเชิญสายเดินเรือมาเจรจาต่อรองแต่สุดท้ายติดปัญหา เพราะบางครั้งออเดอร์เป็นความลับเอกชนต้องแข่งขันกันเองจึงเป็นข้อจำกัดในการแก้ปัญหาภาพรวม เอกชนเสนอว่าถ้าค่าระวางเรือเราช่วย 100% ไม่ได้ ก็ช่วยค่าธรรมเนียมที่ท่าเรือ ตอนนี้ปัญหาใหม่คือ space ของเรือ มีของส่งแต่ไม่มีพื้นที่เหลือให้ใช้เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่จบ ตนต้องจับมือกับเอกชนแก้ต่อไป เอกชนเสนอทำท่าเรือแหลมฉบังเป็นฮับการขนถ่ายสินค้า เพราะเรือต่างประเทศเข้ามารับได้เฉพาะของเราและไปต่อต่างประเทศ แต่จะเอาตู้เข้ามามากกว่านั้นและเอาตู้หรือของที่รับจ้างมาวางไว้ที่ท่าเรือในประเทศไทยเอาสินค้าเราขึ้นให้มีพื้นที่มากขึ้นทำไม่ได้ติดขัดกฎระเบียบเอาของมาวางไว้ไม่ได้ หรือประเทศใกล้เคียงอยากเอาของมาขึ้นเรือที่แหลมฉบังเรือใหญ่จะได้เข้ามาเพื่อรับของจะได้จูงใจให้เรือลำใหญ่พื้นที่เยอะเข้ามาทำไม่ได้เพราะติดขัดกฎระเบียบ ถ้าแก้กฎระเบียบให้เราเป็นฮับเปิดโอกาสให้เรือใหญ่เข้ามาเยอะ ต้องใช้เวลาแก้กฎระเบียบต่างๆ” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า เรื่องต้นทุนกระป๋องแพง เพราะเหล็กนำเข้าแพง เราเก็บภาษีทุ่มตลาด ที่เค้ามาขายตัดราคาในประเทศไทยจึงต้องเก็บภาษีทุ่มตลาดเป็นไปตามกฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด วิธีแก้คือ ลดภาษีลงเพื่อให้เข้ามาง่ายขึ้นมาขายในราคาถูกลงต้นทุนกระป๋องที่ใช้ในการผลิตถูกลงแข่งขันได้มากขึ้นที่กำลังดำเนินการจะมีการประชุมและเคาะเพื่อช่วยเรื่องกระป๋องต่อไป

การส่งออกอาหารกระป๋องของเราเป็นเกือบ 3% ของยอดส่งออกทั้งหมด ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ เช่น การส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม เมื่อก่อนจะต้องตรวจเยอะทั้งฝั่งเราและฝั่งเวียดนาม ทุกล็อต เจรจาหลายปีสุดท้ายสำเร็จมีข้อตกลงพิเศษที่เรียกว่า ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) หรือการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม ว่าตรวจครั้งเดียวตรวจด่านเดียว ไม่ต้องตรวจทุกล็อต ทำให้ผลจากการจับมือแก้ปัญหากับเอกชนได้ผล ตัวเลขเดือนพฤษภาคมหลังมี MRA ตัวเลขส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม +922% ซึ่งผลจากการทำงานหนักจับมือของกระทรวงพาณิชย์และทุกฝ่ายกับภาคเอกชน

การตั้งทีมเซลล์แมนจังหวัดเอาพาณิชย์จังหวัดมาเป็นตัวกลางเอกชนในจังหวัดมาร่วมมือกันแก้ปัญหาการตลาดในจังหวัด จับมือกัน และมีทีมเซลล์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์เป็นแกนกลาง เอกชนจับมือกันเป็นทีมเซลล์แมนประเทศช่วยกันขายของกำหนดยุทธศาสตร์ และต่อไปทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศจับมือทำงานด้วยกัน เป็นนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนช่วยสำคัญในการทำให้การส่งออกตัวเลขค่อยๆดีขึ้น ทางด้านแผนการส่งออกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 200 กว่ากิจกรรมและครึ่งปีหลังอีกอย่างน้อย 130 กิจกรรม การส่งออกยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป และค่าเงินบาทอ่อนลงในช่วงนี้มีส่วนช่วยทำให้เราแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกให้เป็นความหวังได้ยิ่งขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทุกประเทศได้ประโยชน์ แต่ภาวะการแข่งขันยังเหลืออยู่และอาจจะต้องทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

สิ่งที่ต้องติดตาม คือ

ประเด็นที่หนึ่ง การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะทวีความรุนแรงเข้มข้นและมีรายการเพิ่มขึ้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาจากประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น ตั้งแต่หลังสงครามเย็น สหรัฐเป็นตัวกำหนดกฏเกณฑ์กติกาโลก WTO เป็นผู้ดำเนินการทำให้กฎเกณฑ์กติกามาเยอะ ทำให้จีดีพีของประเทศพัฒนาแล้วเมื่อเทียบกับทั้งโลกเป็นของประเทศพัฒนาแล้ว 80% เหลือประเทศกำลังพัฒนาแค่ 20% ต่อมาศักยภาพประเทศกำลังพัฒนาดีขึ้นขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศพัฒนาแล้วลดลงสุดท้ายจีดีพีเปลี่ยนจากประเทศพัฒนาแล้ว จาก 80% เหลือ 60% ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มจาก 20% เป็น 40% เป็นที่มาของการตั้งกำแพงใหม่ที่มิใช่ภาษีแต่เป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง เช่นด้านแรงงานสิทธิมนุษยชน ด้านสุขอนามัย ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่ต่อไปนี้สินค้าและประเทศไหนผลิตให้เกิดคาร์บอนโลกร้อนจะเก็บภาษีคาร์บอนโดยอียูเริ่มแล้วภายใน 2 ปี จะเก็บภาษีคาร์บอนนำเข้าสินค้าไปยังอียูในสินค้า 5 รายการ 1.เหล็ก 2.อะลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ไฟฟ้า 5.ปุ๋ย

ประเด็นที่สอง เมื่อวานประชุมคณะรัฐมนตรีมีการหยิบยกประเด็น การที่สหรัฐกับอังกฤษอีและออสเตรเลียจับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก มีนัยยะสำคัญคือสหรัฐฯจะเข้าไปช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งออสเตรเลียสั่งซื้อจากฝรั่งเศสหลายหมื่นล้านดอลลาร์ กระทบฝรั่งเศส แต่ทันทีที่ประกาศไตรภาคีเรื่องนี้ประเทศจีนประกาศจะเข้าร่วม CPTPP
ซึ่งต้องติดตามโลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมืองแล้วแต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองและแบ่งค่ายกัน เป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยและภาคเอกชนต้องจับมือการติดตามวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด เพื่อทราบว่าเราจะต้องยืนอยู่ที่ไหน กำหนดท่าทีอย่างไร ตนได้เสนอครม.อย่างน้อยที่สุดไทยต้องจับมือกับอาเซียนให้ใกล้ชิดเพราะลำพังไทยตัวเล็กเกินไป อำนาจต่อรองก็จะเพิ่มขึ้น แต่อาเซียนด้วยกันก็ต้องแข่งกัน ฉะนั้นเราจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยอย่างไรคือการบ้านข้อใหญ่ในภาวะการเมืองมัดติดกับเศรษฐกิจการค้าโลก

ประเด็นที่สาม เอกชนกับรัฐบาลต้องศึกษาข้อตกลงกติกาการค้าโลกที่มีให้ใกล้ชิดลงลึก FTA Mini-FTA RCEP อาเซียนพลัสรวมถึงอื่นๆ เพื่อเตรียมการในการปรับตัวและแสวงหาแต้มต่อทางการค้า

ประเด็นที่สี่ เรื่องจีนสนใจจะเข้าร่วม CPTPP ตนเชื่อว่าจะกระทบเรา เพราะถ้าจีนเป็นสมาชิก CPTPP ต้องปรับมาตรฐานทางด้านการผลิตการส่งออกหลายรายการเพื่อให้สอดคล้องกับกติกา จะกระทบไทยเพราะจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยในวันนี้ เมื่อจีนปรับมาตรฐานการส่งออก สินค้าไปจีนต้องภายใต้มาตรฐานใหม่ เป็นสิ่งที่ กรอ.พาณิชย์ทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องติดตาม

“แต่อย่างน้อยกระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับภาคเอกชนเราติดตามใกล้ชิดและเข้าใจจริงๆจับมือกันแน่นในการคลี่คลายการส่งออกจึงยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image