คิดเห็นแชร์ : FinTechX โอกาสการลงทุนในธุรกิจการเงินแห่งอนาคต

เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศแตกตัว ตั้งเป้าเป็น Tech Company นักลงทุนไทยหลายท่านคงรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใกล้ตัวที่กำลังเกิดขึ้นในภาคการเงิน น่าสนใจว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมและเป็นโอกาสและความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนไทยหรือไม่ อย่างไร

ผมจึงชวนคุยต่อบนธีม “Fintech and Digitization” โดยเราจะทำความเข้าใจ จุดเด่น จุดอ่อน ธีมย่อย ไปจนถึงเปรียบเทียบโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุนทั้งภายในธีมและเปรียบเทียบกับธีมอนาคตอื่นๆ

มองผ่านเลนส์ Thematic Investor ธีม Fintech เข้าถึงผู้ใช้ได้โดยตรง ทำกำไรชัดเจน แต่มีความเสี่ยงหลักคือการกำกับดูแลของภาครัฐ

จุดเด่นของธีมนี้คือเทคโนโลยีและโครงสร้างธุรกิจ

Advertisement

ด้วย Internet ที่เข้าถึงทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภคส่วนใหญ่ การวางตัวเป็น Platform ทำหน้าที่เชื่อมต่อและสร้างความสะดวกสบายด้านการเงิน แทรกตัวในโลก Digital ได้ไม่ยาก

เทคโนโลยีที่เพิ่มเข้ามาในทศวรรษนี้คือ Decentralized Finance ที่ทำให้การเชื่อมต่อยิ่งไร้พรมแดน เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าบริการทางการเงินได้ทั่วโลก

ด้านสังคมธีมนี้อยู่ในช่วงที่ท้าทายสูง

Advertisement

ด้วยสินค้าและบริการที่ไม่แตกต่าง เลียนแบบง่าย ผู้ใช้สามารถเปลี่ยน Platform ได้ทุกเมื่อ ธุรกิจจึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงจาก Price War หรือ Disruption เสมอ

นอกจากนี้ การตัดสินใจทางการเงินส่วนมากก็มีประเด็นด้านความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และความคุ้นเคยเป็นองค์ระกอบ ทำให้การตอบรับจากทุกเพศ ทุกวัย ทุกประเทศ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการต้องคิดอยู่ตลอด

จุดอ่อนที่ชัดเจนคือเรื่องกฎเกณฑ์

เนื่องจากธุรกิจมีความเกี่ยวข้องทั้งกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งของประชาชน ไปจนถึงกฎหมายของหลายประเทศ ทำให้โอกาสที่ทั่วโลกจะยอมรับเทคโนโลยีอย่างเดียวกันพร้อมกันไม่ง่าย

กลุ่มธุรกิจต้องร่วมมือกับภาครัฐในการกำหนดกติกาของอุตสาหกรรมให้เหมาะสมเป็นความเสี่ยงสำหรับการลงทุน ทั้งในเรื่องระยะเวลา และขอบเขตของการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ดี เมื่อมองโดยรวมธีม Fintech ถือว่ามีโอกาสในฝั่งเทคโนโลยีและสังคมสูงมาก จึงถือเป็นการลงทุนแห่งอนาคตแน่นอน คำถามมีแค่ว่าจะเปลี่ยนโลกเมื่อไหร่ และมากแค่ไหนเท่านั้น

เมื่อพูดถึง Fintech กับการลงทุน สามารถแบ่งโอกาสออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ แบบแรกคือมองจากหุ้น Pure-Play ของธีม

ถ้าตั้งต้นจากภาคการเงิน ปัจจุบันการลงทุนที่จับธีมนี้ได้อย่างโดดเด่นคือบริษัทเครดิตการ์ดอย่าง Visa และ Mastercard แม้จะเป็นบริษัทการเงินดั้งเดิมแต่มีบทบาทสูงที่สุดในโลก Digital

แต่ถ้าอยากเริ่มต้นจาก Technology ก็มีบริษัทใหญ่อย่าง PayPal ที่ให้บริการด้านการเงิน Online ทั่วโลก Square ทำทั้ง Service Hardware และ Application ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ Adyen บริษัทสัญชาติดัตช์ผู้นำด้านธุรกิจ Payment และ e-Commerce ในยุโรป หรือผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการเงินสัญชาติอเมริกันอย่าง Fiserv

ปัญหาคือการเงินและ e-Commerce มักเป็นธุรกิจที่มี “ถิ่นฐาน” เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ Pure-Play ในที่หนึ่งจึงอาจไม่คุ้นหูนักลงทุนอีกซีกโลก

แบบที่สองคือมองโอกาสของธีม Fintech เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนใน Platform การเงินบนโลก Digital

ใหญ่ที่สุดคือ ARKF (ARK Fintech Innovation) Active ETF ที่เน้นบริษัท Fintech Innovation ส่วนถ้าชอบ Passive ก็มี FINX (Global X FinTech) ที่ลงทุนในผู้ให้บริการ Digital Payment, Personal Finance ไปจนถึง Blockchain หรือใครที่ชอบกว้างกว่านี้ ก็สามารถเลือก DGTL (iShares Digitalisation) ที่ลงทุนกว่า 200 บริษัทที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ภาคการเงินผันตัวมาเป็น Digital อย่างเต็มรูปแบบ

สุดท้ายคือออกนอกระบบไปเลยกับ Crypto Currencies หรือ Decentralized Finance

ปัจจุบันนักลงทุนมีทางเลือกที่จะซื้อขาย Crypto โดยตรงหรือ ETF ที่ลงทุนใน Crypto ได้เช่น BTCC (Purpose Bitcoin) ในแคนาดา อย่างไรก็ดี การลงทุนดังกล่าวถือว่ามีความผันผวนสูงมากที่สุดในโลกการเงิน

ดังนั้น ถ้านักลงทุนอยากลงทุนในธีม DeFi แต่ต้องการกระจายความเสี่ยง ก็มีทางเลือกคือ ETF ที่ผสมธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านกับ Decentralized Finance เช่น DAPP (VanEck Digital Transformation) BLOK (Amplify Transformational Data) Sharing ETF หรือ BCNH (Invesco Elwood Global Blockchain)

ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับธีมอนาคตอื่น Fintech ส่วนใหญ่มักไม่เน้นกำไร ไม่ผสมผสานกับอุตสาหกรรมเก่า แต่มีความสัมพันธ์กับตลาดสูงเหมือนภาคการเงินดั้งเดิม

ผมเลือก ETF ที่โดดเด่นสิบอันดับแรกตาม AUM พบว่ามี Beta กับ MSCI World Index สูงถึง 1.24 และมีความสัมพันธ์กับยีลด์ในเชิงบวกสูงเป็นอันดับสองรองจากธีม Sustainable Energy

ด้าน Factor จะมีความเป็น High-Vol Small-cap Growth เหมาะที่สุดในช่วงเริ่มต้นของเศรษฐกิจฟื้นตัว และช่วงปลายของ Late-Cycle

แต่เนื่องจาก ETF ส่วนหนึ่งลงทุนใน Crypto Currencies กลุ่มการลงทุนจึงมี Valuation ในแบบปกติเช่น P/E หรือ P/B สูงกว่า ธีมอื่นมาก

โดยสรุป ผมมองว่าธีม Fintech and Digitization เป็นการลงทุนแห่งอนาคตที่สามารถเข้ามาเป็น 5-15% ของพอร์ตเราได้

อย่างไรก็ดี ธีมนี้จะเหมาะที่สุดสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง คุ้นเคยกับตลาดการเงิน และสำคัญว่าต้องเป็นนักลงทุนที่ชอบคิดใหม่ทำใหม่ ชอบการเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะในเชิง “ธุรกิจ” แต่เป็นด้าน “สังคม” และ “กติกา” การทำธุรกิจด้วยครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนสายพัฒนาธุรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image