สกู๊ปหน้า 1 : โบกี้เก่า (เก๋า) ญี่ปุ่น สร้างสัมพันธ์ เสริมท่องเที่ยว

สกู๊ปหน้า 1 : โบกี้เก่า (เก๋า) ญี่ปุ่น สร้างสัมพันธ์ เสริมท่องเที่ยว

หลังจากที่ไทยได้นำตู้โดยสารจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามา เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นขบวนรถไฟท่องเที่ยวในประเทศนั้น ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเป็นอย่างมาก อาทิ เรื่องของความคุ้มค่าและอายุการใช้งาน เป็นต้น

ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ออกมาชี้แจงว่า ตามที่การรถไฟฯมีแผนนำขบวนรถดีเซลรางจากประเทศญี่ปุ่น 17 คัน มาปรับปรุงและใช้งาน ซึ่งได้รับส่งมอบมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากโครงการความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และ บริษัท เจอาร์ ฮอกไกโด (JR Hokkaido) โดยการรถไฟฯรับผิดชอบแค่ค่าขนย้ายนั้น

ยืนยันการประกาศจัดซื้อจัดจ้างขนย้ายตู้โดยสารดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ ทุกประการ

สำหรับรถดีเซลรางดังกล่าว ทางบริษัท เจอาร์ ฮอกไกโด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดินรถของประเทศญี่ปุ่น ได้มอบให้การรถไฟฯ ถือเป็นความร่วมมือและการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างการรถไฟฯและบริษัทในเครือ JR ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยการรถไฟฯมีหนังสือตอบรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ติดปัญหาเรื่องการขนย้ายจึงทำให้ล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับบริษัท เจอาร์ ฮอกไกโด จึงได้ว่าจ้างบริษัททำการขนย้ายรถไฟทั้ง 17 คัน

Advertisement

จากการตรวจสอบสภาพตู้รถโดยสาร ในเบื้องต้น ขบวนรถดีเซลรางอยู่ในสภาพดีสามารถนำมาใช้งานต่อได้ และแม้จะเป็นตู้โดยสารที่ถูกปลดระวางไปเมื่อปี 2559 แต่ยังได้รับการดูแลบำรุงรักษาจากทางญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

ซึ่งหลังจากที่การรถไฟฯได้รับมอบตู้โดยสารแล้วจะมีการเข้าไปตรวจสอบด้านความปลอดภัย และนำมาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกครั้ง

เบื้องต้นคาดว่าจะนำตู้โดยสารดังกล่าวมาปรับปรุงเพื่อใช้ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาล ในอดีต การรถไฟฯเคยได้รับรถดีเซลรางและรถโดยสารปรับอากาศมาจาก JR West ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2540 จำนวน 26 คัน ปี 2542 จำนวน 28 คัน ปี 2547 จำนวน 40 คัน ปี 2553 จำนวน 32 คัน และรถโดยสารจากควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2538 จำนวน 21 คัน

Advertisement

โดยการรถไฟฯได้นำรถที่ได้รับมอบเหล่านี้มาปรับความกว้างฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร เป็น 1 เมตร ซึ่งหลังจากปรับปรุงแล้วสามารถนำมาให้บริการได้จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีแล้ว แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเองก็ตาม ได้มีการนำรถโดยสารที่ปลดระวางแล้วมาดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมภาพลักษณ์ สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ การรถไฟฯยังได้นำรถโดยสารปรับอากาศ JR West ที่ได้รับ มาปรับปรุงดัดแปลงเป็นรถจัดเฉพาะเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ อาทิ ตู้ SRT Prestige และ SRT VIP Train หรือขบวนรถหรูสีน้ำเงินเข้มคาดทอง รถไฟชั้นเฟิร์สต์คลาส และเคยเป็นขบวนรถไฟที่ให้บริการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เดินทางและประชุม ครม.สัญจรหลายครั้ง

นอกจากนี้ ยังให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในรูปแบบของขบวนรถท่องเที่ยว อาทิ รถโอท็อป เทรน (OTOP Train) อีกด้วย ถือเป็นขบวนรถไฟที่มีผู้โดยสารจองเช่าใช้บริการมากที่สุด เพราะมีความสวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันโดยในปีงบประมาณ 2562 การรถไฟฯมีรายได้จากการให้เช่ารถไฟเฟิร์สต์คลาส และขบวนรถพิเศษรวมกว่า 10 ล้านบาท

ส่วนปีงบประมาณ 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ลดลงเหลือประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับรถโดยสารปรับอากาศ 10 คัน ที่เจอาร์ ฮอกไกโด มอบมาก่อนหน้านี้ การรถไฟฯมีแผนจะดัดแปลงเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนการปรับปรุงความกว้างของฐานล้อ จาก 1.067 เมตร เป็น 1 เมตร เรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันจอดอยู่ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี การรถไฟฯ อยู่ระหว่างประกาศการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อทำการดัดแปลงเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ตามที่มีการร่วมมือกับทาง TCDC และมีการวางแผนทางการตลาดไปก่อนหน้านั้น ส่วนขบวนรถดีเซลราง Kiha183 จำนวน 17 คัน ล่าสุด

การรถไฟฯยังอยู่ระหว่างการนำรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศที่ได้รับมอบจากบริษัท เจอาร์ ฮอกไกโด ก่อนหน้านี้ จำนวน 10 คัน ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ออกแบบและพัฒนาเป็นตู้รถไฟเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยมีแนวคิดการออกแบบและสีสันของแต่ละขบวนที่เป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะที่แตกต่างตามเส้นทางที่ให้บริการของรถไฟท่องเที่ยว

กรณีรถดีเซลราง จำนวน 17 คัน ของเจอาร์ ฮอกไกโด ที่มอบมาให้นั้น การรถไฟฯจะนำมาปรับฐานล้อด้วยเครื่องอัดไฮดรอ ลิกที่โรงงานมักกะสันก็สามารถนำออกมาให้บริการได้ทันที ซึ่งการปรับปรุงสภาพรถและปรับขนาดความกว้างของฐานล้อเป็นเรื่องที่ศูนย์แผนงานและการผลิต โรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ดำเนินการทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลเป็นปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงความกว้างของฐานเพลาล้อ จาก 1.067 เมตร ให้เป็น 1.00 เมตร สามารถปรับได้มากถึง 2-3 คัน/วัน

นอกจากนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างการรถไฟฯกับเจอาร์ ฮอกไกโด ในความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบราง การพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับการรถไฟฯ ซึ่งความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ และเจอาร์ ฮอกไกโด ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการมอบตู้โดยสารเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกได้ส่งมาให้ประเทศไทยแล้ว จำนวน 10 ตู้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 และอยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับเป็นขบวนรถด้านการท่องเที่ยวแล้ว

โดยการออกแบบนั้น ใน 1 ขบวน มีตู้โดยสาร 5 คัน แบ่งเป็นรถนั่งทั่วไป 3 คัน รถสำหรับครอบครัว 1 คัน และรถพักผ่อน 1 คัน ซึ่งการออกแบบและสีสันจะเป็นไปตามลักษณะของเส้นทางที่ให้บริการของรถไฟท่องเที่ยวขบวนนั้นๆ

อย่างไรก็ดี การรถไฟฯคาดว่าจะปรับปรุงรถไฟและสามารถนำมาให้บริการได้ช่วงปี 2565 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ตลอดจนเป็นการเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เกิดความประทับใจ รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ดีของประเทศ และเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image