รื้อ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ใส่เครื่องกรอง‘จนแท้-จนเทียม’ จับตาบทสรุปสิ้นปีนี้

รื้อ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ใส่เครื่องกรอง‘จนแท้-จนเทียม’ จับตาบทสรุปสิ้นปีนี้

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงต้นปี 2564 ภายใต้โครงการเราชนะ ที่ภาครัฐให้เงินเยียวยาผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง บนสมาร์ทโฟนและผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ได้ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและไม่มีบัตรสวัสดิการ รวมทั้งผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ อย่างผู้พิการ ผู้สูงอายุ อีกจำนวน 2.5 ล้านคน เปิดแผลการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของภาครัฐแบบเต็มๆ

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลังจึงได้เตรียมเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อให้คนที่ตกหล่นได้รับสิทธิอย่างครอบคลุมมากขึ้น และถือว่าเป็นการทบทวนผู้ได้สิทธิที่ปัจจุบันมีอยู่ 13.6 ล้านคน เดิมใช้เกณฑ์รายได้บุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อ และต้องมีทรัพย์สินทางการเงิน สลากออมทรัพย์รวมกันไม่เกิน 1 แสนบาท แต่จะเพิ่มเกณฑ์ เรื่องรายได้ต่อครัวเรือน รวมถึงทรัพย์สินอื่น เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และบัตรเครดิต เป็นต้น ร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้การคัดกรองมีศักยภาพมากขึ้น และเพิ่มรูปแบบการช่วยเหลือ อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ประมาณ 200-300 บาทต่อเดือน

⦁คลังรับสมัครบัตรคนจนรอบใหม่ปลายปี
การเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ จะมีความชัดเจนในช่วงเดือนตุลาคม 2564 และเปิดลงทะเบียนในช่วงปลายปีนี้ เริ่มใช้สิทธิใหม่ภายในปี 2565 หลังจากที่เลื่อนลงทะเบียนมาตั้งแต่ต้นปี เพราะการระบาดโควิด-19

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณการดำเนินการโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เป็นค่าใช้จ่ายรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตร จำนวน 1,642 ล้านบาท และการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลา สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ 4,530 ล้านบาท

Advertisement

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การทบทวนสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมาตรการนี้ออกมา 2-3 ปี เกณฑ์และปัจจัยต่างๆ จึงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ละปีมีเหตุการณ์ต่างกันไป เป็นสิ่งปกติที่ผู้คนจะมีการเปลี่ยนแปลง คนที่เมื่อตอนเข้าร่วมอาจยากจนและเปลี่ยนเป็นคนรวยได้ ขณะเดียวกันคนรวยก็เปลี่ยนเป็นยากจนได้เช่นกัน

หากภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือคนยากจนแบบพุ่งเป้า สิทธิการถือบัตรต้องได้รับการทบทวนอยู่เสมอ ต้องติดตามว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือยัง มีงานทำแล้วหรือไม่ ถ้าดียกเลิกสิทธิแต่ถ้ายังก็ช่วยเหลือต่อไป และเพิ่มสิทธิใหม่ให้กับคนที่หลุดรอดไป อีกด้านหนึ่ง เรื่องของเกณฑ์ ภาครัฐต้องใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง เพราะหากวัดจากมูลค่ารายได้ อาจจะมีเรื่องเงินเฟ้อ รวมทั้งปัจจุบันมีโควิด-19 โดยทั่วไปสังคมและสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรมีการทบทวน ศึกษาเรื่อยๆ

⦁ทีดีอาร์ไอหนุนรัฐเพิ่มเงื่อนไขช่วยข้อมูลแม่นยำ
นณริฏระบุว่า การทำมาตรการช่วยเหลือคนยากจน มีสองแบบ คือ การทำอย่างไม่ระบุเป้าหมาย เป็นมาตรการที่ออกมาจะให้ทุกคน ขอแค่เข้าเกณฑ์แบบกว้าง อาทิ ถือสัญชาติไทย มีบัตรประชาชน จะได้รับสิทธิทันที แต่ประเทศไทยไม่ได้ออกแบบมาตรการลักษณะนี้ เป็นการพยายามระบุเป้าหมาย ซึ่งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พยายามหาและระบุตัวตน ว่าเป็นคนยากจนจะได้รับสิทธิ และแน่นอน ว่าถ้าหากถามประชาชนทั่วไป ใครๆ ก็อยากได้ของฟรี

Advertisement

ฉะนั้น จึงเห็นว่ามีผู้จดทะเบียนจำนวนมาก เกินกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ และบางคนก็หาวิธีเล็ดลอดเข้ามาใช้สิทธิดังนั้นการที่รัฐบาลจะปรับเกณฑ์การคัดกรอง เพิ่มเรื่องรายได้ครัวเรือนร่วมด้วย ถือเป็นอีกเครื่องมือที่รัฐจะใช้ค้นหาคนจนได้แม่นยำมากขึ้น และลดจำนวนแอบอ้างสิทธิให้น้อยลง ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องบูรณาการฐานข้อมูลจำนวนมากเข้าด้วยกัน และหากรัฐทำได้จะทำให้มาตรการเข้าถึงคนจนแท้จริง และเป็นพัฒนาการที่ดี

“จำนวนคนที่จะลงทะเบียนรอบใหม่ จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐนิยามคนจนอย่างไร ถ้าใช้เกณฑ์รายได้เช่นเดิม บวกกับปีที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด-19 อาจทำให้มีคนตกงานเยอะกว่าปกติที่ 3-4 แสนคน และทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ภาครัฐต้องระวังในส่วนนี้ด้วย”

⦁แนะเพิ่มเงินเปิดใช้จ่ายเสรีทางเลือกพัฒนาชีวิต
สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือนั้น หลักคือ วิธีการระบุหรือกำหนดรายการที่จะช่วยเหลือ เช่น ค่าอุปโภคบริโภค ค่ารถสาธารณะ เป็นต้น อีกด้านหนึ่งไม่อยากให้ภาครัฐจำกัดการใช้จ่าย ว่าต้องไปจ่ายที่ไหนอย่างไร กำหนดให้ซื้อได้แค่เครื่องอุปโภคบริโภค ค่ารถเท่านั้น แต่การที่ภาครัฐเปิดกว้างเรื่องการใช้จ่ายแต่ตรวจสอบได้ เชื่อว่าจะช่วยให้คนที่ได้รับสิทธิพัฒนาตนเองได้ดีมากกว่าเดิม เนื่องจากแต่ละคนมีโจทย์ปัญหาที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะเอาไปประกอบอาชีพ บางคนอาจใช้เป็นค่าเทอมลูก มีเหตุผลที่ต้องใช้จ่ายอีกมากมาย ซึ่งการที่ภาครัฐกำหนดกล่องแค่ค่าอาหาร ค่ารถค่าไฟ ค่าน้ำ หากผู้ได้สิทธิ ไม่ใช่กลุ่มที่ต้องใช้จ่ายส่วนนี้จะทำให้เงินที่ได้เสียเปล่าไป

“ถ้าให้ผมเสนอรูปแบบ หากภาครัฐต้องการกำหนดกล่องแบบเดิมก็ทำไป แต่ขอให้เพิ่มเงินเป็นคนละ 2,000 หรือ 5,000 บาท และเพิ่มกล่องเสรีที่ให้ใช้จ่ายอะไรก็ได้ แล้วติดตามดูว่าเป็นประโยชน์กับคนที่ได้สิทธิมากกว่าหรือเปล่า ไม่ต้องกังวลว่าจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะสำหรับคนจนไม่มีคำว่าฟุ่มเฟือย และบัตรสวัสดิการเองก็กำหนดการใช้งานเฉพาะร้านค้าอยู่แล้ว ถ้ากลัวก็ไปกำหนดร้านค้าเอา ห้ามขายเหล้า บุหรี่ ช่วยป้องกันได้ 80-90% อย่าไปกำหนดรูปแบบเลย เพราะไม่มีทางจะออกแบบมาตรการได้ตอบโจทย์ชีวิตทุกคนได้ แต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน ถ้าเปลี่ยนไปเป็นระบบใช้จ่ายเสรีหมดเลย ตามที่ผมเสนอน่าจะดี เพราะว่าจะช่วยพัฒนาคนจนได้อีกเยอะเลย” นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอทิ้งท้าย

ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะปรับปรุงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยคนจนได้ตรงจุด และทำให้พวกเขาเหล่านั้นหลุดพ้นความจนได้ในอนาคตได้หรือไม่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image