จอดป้ายประชาชื่น : ภัยเงียบ

จอดป้ายประชาชื่น : ภัยเงียบ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การบังคับใช้ภาษี

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การบังคับใช้ภาษีความหวานขยับออกไป ขณะที่ภาษีความเค็มแม้จะถูกฟรีซไว้ชั่วคราว

แต่เมื่อสถานการณ์เป็นใจ ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง

แรงกระตุ้นภาษีความเค็มส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงในการบริโภค “โซเดียม” มากเกินไปของไทย จนเสี่ยงหลายโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง อัมพฤกษ์-อัมพาต

จนปัจจุบันนักวิชาการสาธารณสุขต่างกังวลภัยจากโซเดียม เพราะแฝงอยู่กับอาหารทุกประเภท ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด ขนมหวาน ไม่จำแนกรสชาติ ซึ่งโซเดียมไม่ได้มีรสเค็มจัดเหมือนเกลือที่เข้าใจกัน

Advertisement

ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตอาหารต่างใช้โซเดียมในกระบวนการผลิต อาหารบางชนิดแม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็มแต่มีโซเดียมผสมอยู่

แม้เกลือโซเดียมจะมีคุณประโยชน์บทบาทและหน้าที่ต่อระบบทำงานของร่างกาย แต่ข้อมูลพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ การให้บริโภคเกลือ (แกง) ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม คำนวณเป็นเกลือโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม

ล่าสุด ในไทยมีผลสำรวจหลายชิ้นที่ชี้ชัดว่าบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน หน่วยงานอย่างสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ต่างชี้ชัดว่าคนไทยบริโภคโซเดียมมากถึงเกือบ 2 เท่าตัว

ล่าสุด ผู้ผลิตอาหารตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้นเริ่มปรับสูตรผลิตภัณฑ์ลดโซเดียมลง และปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 394 (พ.ศ.2561) ที่กำหนดการติดฉลากแบบ GDA (GDA : Guideline Daily Amount) ระบุปริมาณสารอาหารที่จะได้รับ ทำให้ปริมาณโซเดียมที่อยู่ในอาหารถุงจึงถูกเป็นข้อมูลที่ส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ยังคิดค้นนวัตกรรมเพื่อทดแทนการใช้โซเดียมในปริมาณที่เกินกว่าร่างกายต้องการ

จะเห็นว่าผู้ผลิตอาหารปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว แต่มีภัยเงียบของการบริโภคโซเดียม อาหารรถเข็น หรือสตรีทฟู้ด ที่คนไทยคุ้นเคย จนมีผลวิจัยชี้ชัดว่าเป็นแหล่ง “ความเค็มที่ไม่มีฉลาก” ซึ่งผู้บริโภคต้องพึงระวัง เพราะยังไม่มีการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่เว้นแม้แต่อาหารที่ประชาชนทำกันเองที่บ้าน

ถึงเวลาที่ทุกคนต้องตระหนักรวมถึงรัฐบาลที่กำลังทำคลอดกฎหมายนี้อยู่!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image