เปิด 4 โปรดักส์แรงกลุ่มสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม ผู้ผลิตเร่งคิดค้นผ้ากันโควิด

สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่มชู 4 โปรดักส์แชมป์เปี้ยนส่งออก เร่งคิดค้นผ้ากันโควิด-รับยานยนต์ไฟฟ้า วอนรัฐซื้อสินค้าไทย-เปิดประเทศช่วยกำลังซื้อคืนมา

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทย ว่า ประเมินสถานการณ์ในปีนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอจะกลับมาขยายตัวได้ประมาณ 14-15% จากช่วงเดียวกันปี2563 ที่ติดลบไปมาก หรือกลับมาประมาณ 70% แล้ว ส่วนปี2565 คาดว่าจะโตได้ 10% แต่หากจะให้กลับไปเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้หากผู้ประกอบการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคโควิด-19 จะชดเชยส่วนที่ขาดหายไปตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้

โดยในอนาคตมีผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ หรือ โปรดักส์ แชมเปี้ยน ที่ผู้ประกอบการไทยพัฒนาได้ 4 หมวดสำคัญ คือ 1. สิ่งทอทางการแพทย์ มีควมมต้องการสูงในช่วงโควิด-19 และอนาคต 2. ชุดกีฬา ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ที่ต้องการนวัตกรรม อาทิ การผลิตเสื้อที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่ได้ หรือเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ หรือใช้ทดแทนนาฬิกาวัดการเต้นของหัวใจ ประเมินว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น 3. สิ่งทอเชิงเทคนิค และสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษผสานแฟชั่นมูลค่าเพิ่มหลายเท่า อาทิ ผ้ากันไฟ ผ้ากันเปื้อนทำความสะอาดตัวเองได้ ผ้าที่ทนต่อการขูดขีดอย่างรุนแรง ผ้าที่ซักได้มากถึง 500 ครั้งแต่ยังมีสีสดใสคงทน และ 4. สิ่งทอที่เกี่ยวข้องกับบีซีจี(ไบโอ-เซอร์คูลาร์-กรีน) เป็นกลุ่มสินค้าน่าจับตา เป็นเทรนใหม่ของโลก

“สินค้าทั้ง 4 หมวดนี้ ถ้าได้รับการสนับสนุนจริงจังจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การส่งออกสิ่งทอ และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จากปัจจุบันมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แยกเป็น สิ่งทอ 1.1 แสนล้านบาท และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3-4 แสนล้านบาท ในช่วง 3-5 ปีได้ “นายยุทธนากล่าว

Advertisement

นายยุทธนา กล่าวว่า การสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องมาจาก3เรื่องหลัก คือ 1.สนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และตรวจทดสอบ วงเงิน 100 ล้านบาท จะช่วยผลักดันการส่งออกทั้งกลุ่มได้อีกอย่างน้อย 50,000 – 100,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 ปี 2.ขอให้รัฐตั้งศูนย์ทดสอบด้านสิ่งทอ ใช้เงิน 50-80 ล้านบาท เพราะปัจจุบันไทยไม่มีศูนย์ทดสอบเฉพาะ ทำให้ผู้ประกอบการต้องส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศ เสียค่าใช้จ่ายสูง และต้องรอผลการทดสอบนาน และ3.ขอให้รัฐร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำกลยุทธ์ร่วมกันระยะยาว จัดหาผู้เชี่ยวชาญพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมฯ โดยอาจเริ่มพัฒนาในภาคการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่

นายสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์

นายสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะไร้อนาคต หรือ ซันเซท อินดัสทรี เพราะยังมีทิศทางเติบโต ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ใช่แค่การผลิตผ้า แต่มีการผลิตสินค้าที่หลากหลาย ผู้ประกอบการพยายามพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น อาทิ ถุงมือแล่ปลา ถุงมือทนการบาด ถุงมือจับสัตว์อันตราย ถือเป็นสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะ ล่าสุดอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ต่อยอดไปช่องทางใหม่มากขึ้น อาทิ ปีนี้ร่วมมือกับบริษัทของญี่ปุ่นพัฒนาถุงลมนิรภัยสำหรับรถยนต์ เงินลงทุน 500 ล้านบาท หรือการเตรียมความพร้อมผลิตสิ่งทอ หรือเส้นใยรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับการผลิตเป็นสิ่งทอที่ไม่ต้องทอ เดิมเคยมีโรงงานประมาณ 20 แห่ง ตอนนี้เพิ่มเป็น 70 แห่ง รวมไปถึงการผลิตผ้ากันเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดเตรียมพัฒนาน้ำยาเคลือบบนผ้า หรือเอาน้ำยาใส่ไปในเส้นใยเลย เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายและกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา

นายเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย

นายเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังหันมาเน้นการผลิตสิ่งทอในเชิงเทคนิค อาทิ ชุดพีพีอี ชุดนักบินรบ โดยชุดนักบินเป็นโครงการร่วมกันระหว่างผู้ผลิตไทยพัฒนาชุดที่มีมาตรฐานสากล คืบหน้าแล้วกว่า 90% หากพัฒนาสำเร็จจะทดแทนการนำเข้ามาจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้จากความสำเร็จของผู้ผลิตไทย อยากขอให้รัฐสนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้เติบโต แข่งขันในตลาดโลกได้ เริ่มต้นจากการส่งเสริมนำไปใช้ในภาคราชการก่อน อาทิ เสื้อทหาร ชุดนักบินอยากให้หน่วยงานทหารสนับสนุน ปัจจุบันงบประมาณรัฐจากการจัดซื้อจัดจ้างต่อปีหลักแสนล้านบาท หากนำงบส่วนนี้มาช่วยผู้ประกอบการไทยจะสร้างรายได้ให้คนไทย กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อยากให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับ แรงสนับสนุนจากภาครัฐบ้าง

Advertisement

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ขอให้รัฐออกมาตรการมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรม ทำได้ตั้งแต่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว ทั้งการกระตุ้นทางด้านตลาด มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ลดค่าเช่า หรือออกค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกลับมาฟื้นตัวได้ภายในปี 2565 นอกจากนี้อยากให้ประสานหน่วยงานด้านศึกษา รวบข้อมูล เครื่องมือทดสอบต่างๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาสินค้าได้
อุต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image