สกู๊ปออนไลน์ : เจาะข้อมูลน้ำ…ประสบการณ์หลอนมหาอุทกภัย54!!
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนกังวลว่าสถานการณ์นี้ในปี 2564 นี้ จะซ้ำรอยกับปี 2554 ซึ่งวันนี้ มติชนออนไลน์ มีคำตอบที่จะช่วยคลายกังวลให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ขณะนี้ ต้องฉายภาพให้เห็นก่อนว่า ปัจจุบันจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยเริ่มมีฝนลดลง เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 50,553 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 66% ในจำนวนนี้เป็นนำใช้การได้ 26,623 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% เมื่อเทียบปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 40,214 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53% ซึ่งน้อยกว่าปี 2564 จำนวน 10,339 ล้าน ลบ.ม.
แม้ภาพรวมจะดูเหมือนว่าอ่างเก็น้ำส่วนใหญ่ยังสามารถรองรับน้ำฝนที่มีในปัจจุบันได้อยู่ แต่จากภาพน้ำท่วมที่ได้เห็นความเดือดร้อนของประชาในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนวางใจสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ได้ บางครอบครัวถึงขั้นหลับไม่ลง เพราะกลัวขนย้ายข้าวของไม่ทัน ซึ่งปัจจุบันในบางพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่สูงขึ้นแล้ว
แต่จากการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานทรัพยากรณ์น้ำแห่งชาติ ได้ประเมินว่าสถานการณ์น้ำในปี 2564 จะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน ซึ่งมองไปในทิศทางเดียวกับกรมชลประทาน ที่ได้ฉายภาพให้เห็นว่า
เมื่อปี 2554 ประเทศไทยเจอพายุจำนวน 5 ลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ปลายเดือนตุลาคม 2554 จึงเป็นเหตุทำให้ต้องมีการระบายน้ำลงเขื่อนเจ้าพระยากว่า 3,700 ลบ.ม./วินาที และระดับน้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด ในขณะนั้น อยู่ที่ 2.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ส่วนปี 2564 ประเทศไทยเจอพายุเพียง 1 ลูกเท่านั้น คือพายุโซนร้อน ‘เตี้ยนหมู่’ ที่เกิดในช่วงเดือนกันยายน 2564 ขณะที่ ปัจจุบันมีการปล่อยน้ำลงเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,639 ลบ.ม./วินาที ส่วนระดับน้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด อยู่ที่ 1.46 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
นอกจากนี้ กรมชลประทานให้เหตุผลอีกว่า การที่สถานการณ์ของทั้ง 2 ปี มีความแตกต่างกันเนื่องจากปัจจุบันระบบการจัดการน้ำของประเทศมีการพัฒนามากขึ้น ทั้งในเรื่องของการติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักรในการสูบน้ำ การจัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำต่างๆ และโครงการแก้มลิง ที่จะช่วยพักน้ำเพื่อเก็บไว้ใช้ในการเกษตร ต่างจากอดีตที่ต้องปล่อยน้ำปริมาณมาก จนส่งผลให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงครั้งใหญ่ อย่างที่ผ่านมานั่นเอง
อย่างไรก็ดี แม้หน่วยงานทางด้านน้ำทั้ง 2 หน่วยงาน จะยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แต่ก็ยังวางใจไม่ได้!!
เนื่องจาก กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึง 2 ตุลาคมนี้ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ดังนั้น ประชาชนเองก็ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณจะคลี่คลายต่อไป