ผู้ว่าแบงก์ชาติ เสนอ 7 แนวทาง สร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) /แฟ้มภาพ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ เสนอ 7 แนวทาง สร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางสะสมอยู่ในหลายด้านมานาน โดยสะท้อนออกมาในช่วงที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะขาดภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังเจอความเสี่ยงที่จะไม่ยืดหยุ่นและไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ต้องเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยทั้งเพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ, เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งได้มีข้อเสนอ 7 แนวทาง ดังนี้

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ประการแรก ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ ประการที่ 2 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน

ประการที่ 3 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ประการที่ 4 ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ประการที่ 5 ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง

Advertisement

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ประการที่ 6 สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง ในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ และประการสุดท้าย ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

“ธปท. มีหน้าที่ดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน อีกทั้งมีแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินและส่งเสริมความเข้าใจทางการเงิน ให้ครัวเรือนและธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและความขัดแย้งทางสังคมที่อาจเกิดตามมา รวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนปรับตัวไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าวปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image