บทเรียน ‘หมิงตี้เคมิคอล’ ความปลอดภัย ใครรับผิดชอบ

บทเรียน ‘หมิงตี้เคมิคอล’ ความปลอดภัย ใครรับผิดชอบ

โดย ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

Advertisement

และแล้ว กรณีอุบัติเหตุที่ระเบิดในโรงงานสารเคมีเมื่อเดือนที่แล้ว ก็จางหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม เหลือทิ้งไว้แต่ซากของความสูญเสียและข้อเสนอแนะที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ทุกวันนี้ เราทุกคนต่างต้องการ “คุณภาพชีวิต” ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักประกันเบื้องต้นของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
บทความวันนี้ จะขอพูดถึงเรื่อง “ความปลอดภัย” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกินอยู่อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องของ “การทำงานอย่างปลอดภัย” และ “ความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย”

เรื่องของความปลอดภัยที่ว่านี้ ในเบื้องต้นแล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับ “วิศวกร” และ “วิศวกรรมความปลอดภัย” เป็นสำคัญ

Advertisement

ในชีวิตจริงนั้น เกือบทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราที่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ด้วย ตา หู คอ จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ นั้น มักจะเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของ “วิศวกร” จากความรู้ทางด้านของ “วิศวกรรมศาสตร์” (Engineering) สาขาต่างๆ แทบทั้งสิ้น

เพราะหลักวิชาการด้านวิศวกรรมจะเป็น “พื้นฐานของการออกแบบ” วัสดุสิ่งของ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งในรูปของ “ปัจจัย 4” และข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนได้

วิศวกรจะเป็นผู้ที่ออกแบบสิ่งของต่างๆ ที่ใช้รอบตัวเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต และใช้ความรู้ความสามารถ (ที่มีคณิตศาสตร์ขั้นสูงอยู่เบื้องหลัง) ด้านเทคโนโลยี และเทคนิคความชำนาญ เพื่อทำตามที่ได้ออกแบบไว้ คือ หาวัตถุดิบ ผลิต ส่งมอบ และปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรอุปกรณ์ เครื่องใช้ และอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้สอยของผู้ใช้ ผู้บริโภค และสังคม รวมทั้งความต้องการใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีวิตด้วย

แนวความคิดของวิศวกรในการออกแบบและสร้างสิ่งต่างๆ นั้น มักจะเป็นไปเพื่อ “การเพิ่มผลผลิต” และ “ความปลอดภัย” เป็นหลัก คือ การทำน้อยได้ผลลัพธ์มากขึ้น อุบัติเหตุอันตราย (ความเสี่ยง) น้อยลง เป็นต้น

การออกแบบที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่ข้าวของเครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกแบบของชิ้นใหญ่อย่างเป็นระบบที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม เพื่อการก่อสร้างตึกสูงระฟ้า รถยนต์ เครื่องบิน จรวด ดาวเทียม เตานิวเคลียร์ รวมตลอดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และอื่นๆ เพื่อการต่างๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งมี “ความปลอดภัย” เป็นปัจจัยสำคัญของการออกแบบ คือ ยิ่งงานชิ้นใหญ่ที่มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ทำงานสนองกันจำนวนมาก ยิ่งจะต้องมีความปลอดภัยอย่างเป็นระบบมากขึ้น

เมื่อผู้บริโภคต้องการ “ความเชื่อมั่น” ในตัวสินค้าและบริการที่ปลอดภัย วิศวกรจึงปฏิเสธเรื่องของ “ความปลอดภัย” (ตั้งแต่เริ่มออกแบบเลย) ไม่ได้

ดังนั้น หลักการเรื่อง “ปลอดภัยไว้ก่อน” จึงต้องอยู่ในจิตวิญญานของวิศวกรทุกคนทุกสาขาวิชาชีพ

โดยเฉพาะเรื่องของ การหลีกเลี่ยง การลดและการกำจัดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายยต่อการใช้งานหรือการบริโภค และก่อให้เกิดอุบัติเหตุ อันอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน มีผู้บาดเจ็บ พิการ หรือล้มตาย ซึ่งเป็น “หัวใจสำคัญ” ของหลักวิชาด้าน “วิศวกรรมความปลอดภัย” (Safety Engineering) ที่มุ่งเน้นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น

“ความปลอดภัย” จึงเป็นหลักการพิ้นฐานของ “การออกแบบ” สินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย (ต้นทุน ค่าใช้จ่าย) ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันอาจจะเกิดขึ้นจาก “ความเสี่ยง” และ “อันตราย” ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการ อันเนื่องมาจากความบกพร่องของการออกแบบตั้งแต่ต้น

การถอดบทเรียนด้วยการศึกษาเรียนรู้จากความบกพร่องและสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งจาก “วิธีการทำงานที่ไม่ปลอดภัย” และ “สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย” เพื่อเป็น “บทเรียน” และเป็น “ประสบการณ์” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันอุบัติเหตุในอนาคต โดยการแก้ไขปรับปรุง การออกแบบ การผลิต และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วัสดุสิ่งของ เครื่องจักร อุปกรณ์ อาคาร สถานที่ กรรมวิธีการผลิต และการใช้งาน มีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อจะได้ไม่เกิด “อุบัติเหตุซ้ำซาก”

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของ “ความปลอดภัย” (เพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุอันตรายเกิดขึ้น) จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของ “วิศวกร” ผู้ออกแบบหรือผู้ผลิตหรือใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะผู้ใช้งานอย่างไม่ถูกต้องหรือใช้อย่างไม่ปลอดภัย ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ด้วย

ความปลอดภัย จึงเป็นเป็น “ความรับผิดชอบของทุกคน” และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมตลอดถึงประชาชนหรือชุมชนและผู้คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดในวันนี้ ก็คือ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมายต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อการลดอุบัติเหตุอันตรายและความสูญเสียต่างๆ มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต

กฎหมายแต่ละฉบับเพื่อความปลอดภัย จึงต้องสังเวยด้วย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

ดังนั้น “การป้องกันอุบัติเหตุอันตราย” และ “การสร้างเสริมความปลอดภัย” ให้เกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียต่างๆ ในสังคมไทย จึงควรเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่มีทั้งยุทธศาสตร์และแนวทางดำเนินการอย่างชัดเจนและครอบคลุมครบถ้วน

หรือว่า เราจะอยู่กันแบบเสี่ยงๆ และเคยชินกับการแก้ปัญหาแบบ “วัวหายล้อมคอก” กันต่อไป ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image