สมาพันธ์เอสเอ็มอี แนะรัฐประคองรายย่อยให้อยู่ได้จริง ต้องเติมทุน-ดึงตกงานมีอาชีพ ไม่แค่อุดหนุน 3 พัน 3 เดือน

สมาพันธ์เอสเอ็มอี แนะรัฐประคองรายย่อยให้อยู่ได้จริง ต้องเติมทุน-ดึงตกงานมีอาชีพ ไม่แค่อุดหนุน 3 พัน 3 เดือน

วันที่ 1 ตุลาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับมติชนว่า โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน SME ของกระทรวงแรงงาน อุดหนุนผู้ประกอบการ 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คน โดยให้กับผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน และให้ความช่วยเหลือ 3 เดือน ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2564 ถึง มกราคม 2565 นับเป็นการช่วยเหลือบรรเทาเยียวยาลดภาระผู้ประกอบการ กว่า 480,000 ราย และส่งเสริมให้เกิดการรักษาระดับการจ้างงาน SME กว่า 5,000,000 คน ในระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงาน อย่างเป็นรูปธรรม ต้องขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน และท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญ และออกมาตรการช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ SME ที่เผชิญปัญหาธุรกิจจากการแพร่ระบาด COVID-19 มาเกือบ 2 ปี

“ซึ่ง SME อยากเน้นย้ำถึงมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไปพร้อมกับการขยายการเปิดภาคธุรกิจในแต่ละคลัสเตอร์ให้มีความพร้อมไม่เกิดการแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีก จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ GDP ถดถอยติดลบได้ แต่หากมาตรการเศรษฐกิจควบคู่สุขภาพที่ปลอดภัยของประชาชนดำเนินการไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน จะสามารถเพิ่มการเติบโตเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่องได้”

นายแสงชัย กล่าวว่า สมาพันธ์ มีข้อเสนอแนะที่สำคัญเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ภายหลัง COVID-19 เกิดการขยายความเหลื่อมล้ำมากขึ้น คือ 1.แหล่งทุน การเข้าถึงแหล่งทุนที่ต้องเป็นทางเลือก SME ที่มี Success rate การอนุมัติสินเชื่อสูง กับกองทุนสินเชื่อของประกันสังคม 30,000 ล้านบาท สนับสนุน SME ที่มีความต้องการสินเขื่อให้ SME ในระบบประกันสังคมได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ควรปรับปรุงเกณฑ์พิจารณารูปแบบการให้สินเชื่อ และพัฒนารูปแบบในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานว่างงาน (มาตรา 33 39 และ 40) อย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มสภาพคล่อง และช่วยผู้ประกอบการ SME ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้อง และรองรับสถานการณ์ New normal รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2 .ทุนมนุษย์ กลไกการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ควบคู่กับการพัฒนาฝีมือแรงงาน SME รวมทั้งแรงงานว่างงานที่ต้องการงานใหม่ อาชีพใหม่ หรือ เป็นผู้ประกอบการใหม่ให้ตอบสนองความต้องการเชิงพื้นที่ ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจ SME ด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งเชื่อมโยงส่งต่อความต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างบูรณาการร่วมกับภาครัฐ สสว สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ สถาบันคุณวุฒิวิชาขีพ DEPA NIA สวทช อุทยานวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเครือข่ายภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพรปช) และคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพประจำจังหวัด (กพรปจ) ร่วมกับ กรอ.จังหวัด หรือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัดร่วมกัน
3 ทุนโอกาส สนับสนุนงบประมาณ มาตรการกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้แต้มต่อสิทธิประโยชน์ให้ SME ปรับปรุงระบบราชการจัดให้เกิดระบบ SME One Stop Services ในการขออนุญาตต่างๆให้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ต้นทุนต่ำ

Advertisement

อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)มาตรการส่งเสริมการค้า การลงทุน SME ที่เข้าถึงได้ง่าย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งเสริมเขื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ การสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ยกระดับขีดความสามารถธุรกิจ SME กระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผ่านเซลแมนทูตพาณิชย์ในประเทศต่างๆ และจัด Virtual SME Exporter และจับคู่ธุรกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าให้สินค้าและบริการ SME เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมทั้งสร้างกลไก SME Trader ช่วยเหลือ SME ที่มีสินค้าคุณภาพส่งออกแต่ขีดความสามารถทางภาษา การค้ายังไม่เพียงพอ ให้สามารถเติบโตผ่านกลไก SME Trader ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ กระทรวงการคลัง มาตรการส่งเสริม จูงใจ SME เข้าระบบ ปรับลดเพดานภาษี SME มาตรการช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ทางภาษี กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มผลผลิต มาตรการลดการนำเข้าเครื่องจักรต่างประเทศ ประสานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ SME ผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ อาทิ เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร เครื่องสำอาง การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น กระทรวงดีอีเอสกับการส่งเสริมการพัฒนา Smart SME ด้วย Digital IOT มาตรการส่งเสริม Start up จับคู่เสริมแกร่งธุรกิจกับ SME ที่มีความพร้อมต่อยอดธุรกิจให้เติบโต กระทรวงพลังงาน ที่ต้องมุ่งส่งเสริมพลังงานทางเลือก ในการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ SME เช่น การสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของ SME การพัฒนาระบบการประหยัดพลังงานให้ SME เป็นต้น

“สิ่งที่สมาพันธ์ SME อยากฝากถึงรัฐบาล คือ 3 ทุนข้างต้น และให้มีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถ SME ขยายการเติบโตของสัดส่วน GDP SME ของประเทศให้มากกว่า 50% และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกของ SME ให้มีมากกว่า 30% โดยพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้มีความพร้อมในการส่งออกเพิ่มมากขึ้นกว่า 100,000 ราย ในปี 2565 “

นายแสงชัย กล่าวว่า นอกจากนั้นต้องมีกระบวนการต่อเนื่องในการนำ SME ที่ประสบปัญหาเอ็นพีแอล จากสถานการณ์ COVID-19 ให้พัฒนาฟื้นฟูกลับมาประกอบธุรกิจใหม่ รวมทั้งการพัฒนา ปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรค SME และส่งเสริมให้ SME มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็งจะสามารถช่วยผลักดันให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐไปได้อย่างก้าวกระโดด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image