ใช้จ่ายช่วงกินเจต่ำสุด 14 ปี เหลือ 4 หมื่นล้าน พิษจากโควิด-น้ำท่วม-ของแพง ลุ้นเงินรัฐประคองใช้จ่าย

ใช้จ่ายเทศกาลกินเจ 9-14 ต.ค.ต่ำสุด 14 ปี เหลือ 4 หมื่นล้าน พิษจากโควิด-น้ำท่วม-ของแพง ลุ้นเงินรัฐประคองใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับวันที่ 6-14 ตุลาคม 2564 โดยสำรวจประชาชน 1,208 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2564 พบว่า 60.9% ระบุไม่กินเจ เพราะวิตกเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ตั้งใจจะกินอยู่แล้ว อาหารเจแพง และกังวลโควิด-19 ส่วนอีก 39.1% ระบุกินเจ แต่กินเฉพาะเทศกาล และส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้น โดย 62.9% ตั้งใจกินครบ 9 วัน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า โดยกว่าครึ่งจะใช้จ่ายในลักษณะซื้อลดทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเห็นว่าอาหารเจราคาแพง และโควิด-19 ทำให้การทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้คนทำงานกว่า 60% ระบุไม่กินเจ คนส่วนใหญ่ 55.8% มองว่าบรรยากาศกินเจปีนี้ความคึกคักไม่เปลี่ยนแปลง น้อยกว่าปีก่อน แต่ไปเพิ่มคนที่ระบุคึกคักลดลง จากปีก่อน 26.3% เป็น 28.6%

“จากสำรวจสะท้อนได้ว่าบรรยากาศกินเจปีนี้ไม่คึกคัก และประเมินว่าจะมีเงินใช้จ่ายสะพัดแค่ 4 หมื่นล้านบาท ติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปีนับจากสำรวจปี 2551 และติดลบถึง 14.5% มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือเศรษฐกิจไม่ดี กลัวเรื่องโควิด-19 ระบาด และวิตกสถานการณ์น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและการเกษตร จนกระทบต่อราคาอาหารแพงขึ้น

“น่าสังเกตคือคนระบุว่าเงินใช้จ่ายต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ระบุว่าใช้เงินจากรายได้พิเศษลดลงมาก สะท้อนถึงรายได้ประชาชนแย่ลง เป็นเรื่องที่รัฐต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เพื่อประคองให้จีดีพียังบวกได้ 2-3% และทำให้เศรษฐกิจทั้งปีโตได้ 1%” นายธนวรรธน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image